1.7 ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท

      ปฏิจจสมุปบาทเป็นการแสดงความเกิด ดับ แห่งทุกข์ ตามธรรมดาของเหตุปัจจัย เป็นหลักธรรมใหญ่ที่แสดงความเป็นไปของชีวิตไว้ทั้งหมด มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลักธรรมปลีกย่อยในระดับต่างๆอย่างทั่วถึง ถ้าเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทแล้ว ก็ชื่อว่าเข้าใจชีวิต หรือเข้าใจพระพุทธศาสนาทั้งหมด ดังพุทธพจน์

      “… ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท …” (มหาหัตถิปโทปมสูตร, 12/346)

ความหมายโดยย่อ

      ปฏิจจะ แปลว่า อาศัยกัน, สมุปบาท แปลว่า เกิดขึ้นด้วยกัน

      ปฏิจจสมุปบาทจึงแปลว่า การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมี

      (คำว่าปฏิจจสมุปบาท, อิทัปปัจจยตา, ปัจจยาการ เป็นไวพจน์แก่กัน ใช้แทนกันได้
      อิทัปปัจจยตา แปลว่า ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย
      ปัจจยาการ แปลว่า อาการที่เป็นปัจจัยแก่กัน)

ความสำคัญ

      พุทธดำริเมื่อครั้งหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงประกาศธรรม ซึ่งพุทธดำริตอนนี้กล่าวถึงหลักธรรม 2 อย่าง คือ ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความยากของหลักธรรมนี้ ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และจะทรงนำมาสอนแก่พหุชน

      ปฏิจจสมุปบาท เป็นเบื้องหลังของไตรลักษณ์ เป็นกฎเดียวกัน แต่แสดงคนละแง่ คือเป็นการเชื่อม “กฎของธรรมชาติ” (ไตรลักษณ์) กับ “ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต” (ปฏิจจสมุปบาท) พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ต่อจากไตรลักษณ์ การเข้าใจปฏิจจสมุปบาทก็จะเป็นการเสริมความเข้าใจไตรลักษณ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นการยืนยันว่าไม่มีมูลการณ์หรือต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น รวมถึงหักล้างความเชื่อที่ว่าสิ่งต่างๆไม่มี แล้วมามีขึ้น

      ปฏิจจสมุปบาท จะเป็นการพิจารณาทั้ง อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยสามารถพิจารณาเป็นช่วงสั้นๆ เช่น แต่ละขณะจิต และขยายออกไปพิจารณาในช่วงที่ยาว เช่น ข้ามภพชาติก็ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาช่วงสั้นและยาว ความหมายของธรรมแต่ละข้อก็จะปรับเปลี่ยนไปบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย ดังนั้นการแปลความหมายของธรรมแต่ละข้อ จึงไม่ได้ตายตัวมากนัก แต่โดยความหมายหลักๆก็จะไปในแนวเดียวกัน (ในพระอภิธรรมอธิบายแบบแต่ละขณะจิต ในพระสูตร และอรรถกถาส่วนใหญ่อธิบายแบบข้ามภพชาติ)

      นอกจากนี้พึงเข้าใจว่า แท้จริงนั้น จากเหตุเดียว จะมีผลหนึ่งเดียวก็หาไม่ จะมีเหตุเดียวผลอเนกก็หาไม่ จะมีผลเดียวจากเหตุอเนกก็หาไม่ แต่ย่อมมีผลอันอเนกจากเหตุอันอเนก แต่ที่อธิบายในปฏิจจสมุปบาท ต่อกันเป็นข้อๆเหมือนเหตุเดียวผลเดียวนั้น เป็นเพราะเลือกเหตุปัจจัยและผลเฉพาะตัวเอก ตัวประธาน

ตัวบท

      ประกอบด้วยองค์ประกอบ 12 ข้อ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นปัจจัยเนื่องอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงเวียนไม่มีต้น ไม่มีปลาย คือ ไม่มีตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด (ไม่ได้เริ่มที่อวิชชา)

ปฏิจจสมุปบาท สายดับ สายเกิด องค์ประกอบ

(ที่มาของภาพ : หนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย)

คำจำกัดความองค์ประกอบทั้ง 12 ข้อ
(ความหมายช่วงยาวข้ามภพชาติ // ความหมายช่วงสั้นแต่ละขณะจิต)

  • อวิชชา : ความไม่รู้แจ้ง ไม่รู้ตามเป็นจริง
  • สังขาร : การปรุงแต่งทาง กาย วาจา ใจ อันมีเจตนาเป็นตัวนำ
  • วิญญาณ : ปฏิสนธิวิญญาณ // ความรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ คือ การเห็น-ได้ยิน-ฯลฯ-รู้เรื่องในใจ
  • นามรูป : ส่วนประกอบของชีวิต ทั้งกายและใจ // ส่วนต่างๆของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพจิตแต่ละขณะ
  • สฬายตนะ : ช่องทางรับรู้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะภายใน) // ภาวะที่อายตนะปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ
  • ผัสสะ : การเชื่อมต่อรับรู้อารมณ์ (อายตนะภายใน+อารมณ์+วิญญาณ) ได้แก่ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส
  • เวทนา : ความเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์ (สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา)
  • ตัณหา : ความทะยานอยากในอารมณ์ทั้ง 6 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์), ความทะยานอยากเมื่อได้เสวยอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ คือ อยากได้ (กามตัณหา) อยากให้คงอยู่ (ภวตัณหา) อยากให้ดับสูญ (วิภวตัณหา)
  • อุปาทาน : ความยึดติดถือมั่น ความผูกพันถือค้างไว้ในใจ การถือรวมเข้ากับตัว (กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน)
  • ภพ : เจตจำนงที่จะกระทำการอันนำให้เกิดกระบวนพฤติกรรม ทั้งดีและชั่ว
  • ชาติ : ความเกิด ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย (ในภพใหม่) // ความปรากฏของรูปนามที่เกิดดับหรือเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในแต่ละขณะจิต
  • ชรามรณะ : ความแก่-ความตาย // ความแก่และความตายของรูปนามแต่ละขณะจิต

      อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เป็นวัฏฏะ หรือวงจร ความสิ้นสุดจึงไม่มี ณ ที่นี้ กล่าวคือ ชรามรณะย่อมบีบคั้น ทั้งโดยชัดแจ้งและแฝงซ่อนอยู่ในจิตส่วนลึก ดังนั้นจึงพ่วงมาด้วย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส มีความหมายคือ ความทุกข์ในลักษณะต่างๆ เป็นตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีกิเลสเมื่อมีชรามรณะแล้ว เป็นอาการสำแดงออกของการมีกิเลสที่เป็นเชื้อหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงต่อไปอีก

อธิบายปฏิจจสมุปบาท

      วงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทตามคำอธิบายแบบในช่วงกว้าง (คือข้ามภพชาติ) นิยมเรียกว่า “ภวจักร” ซึ่งแปลว่าวงล้อแห่งภพ หรือ “สังสารจักร” ซึ่งแปลว่า วงล้อแห่งสังสารวัฏ และจะเห็นได้ว่าคำอธิบายคาบเกี่ยวไปถึง 3 ช่วงชีวิต และเมื่อแยกออกเป็น 3 ช่วงเช่นนี้ย่อมถือเอาช่วงกลาง คือ ชีวิตปัจจุบัน หรือชาตินี้ เป็นหลัก เมื่อถือเอาช่วงกลางเป็นหลัก ก็ย่อมแสดงความสัมพันธ์ในฝ่ายอดีตเฉพาะด้านเหตุ และในฝ่ายอนาคตเฉพาะด้านผล ดังนี้

  1. อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
  2. ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
    ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
  3. อนาคตผล = ชาติ ชรามรณะ (+โสกะ ฯลฯ)

ปัจจยาการ

      มองภาพรวมในอีกแง่หนึ่ง ปฏิจจสมุปบาท เป็นการแสดงวงจรของกิเลส กรรม วิบาก 2 รอบต่อเนื่องกัน ซึ่งคาบเกี่ยว อดีต ปัจจุบัน อนาคต ดังนี้ อวิชชา (อดีตกิเลส) > สังขาร (อดีตกรรม) > วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา (ปัจจุบันวิบาก) > ตัณหา อุปาทาน (ปัจจุบันกิเลส) > ภพ (ปัจจุบันกรรมกรรม) > ชาติ ชรามรณะ (อนาคตวิบาก)

      การย่อปฏิจจสมุปบาทจาก 12 ข้อ ลงเป็น กิเลส > กรรม > วิบาก > กิเลส > กรรม > วิบาก แบบนี้ท่านเรียกว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทอย่างง่าย ซึ่งถ้าทำความเข้าใจภาพรวมในลักษณะอย่างนี้ก่อน ก็จะจับหลักการและเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดได้ง่ายขึ้น

อิทัปปัจจยตา

ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ปัจจยาการ

(ที่มาของภาพ : หนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย)

     จากคำอธิบายขององค์ประกอบแต่ละข้อ จะเห็นความหมายที่คาบเกี่ยวกันขององค์ประกอบบางข้อ ซึ่งความหมายไปในแนวเดียวกันต่างที่ขอบเขตการเน้น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  1. อวิชชา กับ ตัณหา อุปาทาน : ให้ความหมายอย่างเดียวกัน แต่การที่ยกอวิชชาขึ้นในฝ่ายอดีต และยกตัณหา อุปาทาน ขึ้นในฝ่ายปัจจุบัน เนื่องจาก อวิชชา ต่อเนื่องมาจาก โสกะ ฯลฯ ส่วนตัณหา ต่อเนื่องมาจากเวทนา จึงเป็นกิเลสตัวเด่นตรงกับกรณีนั้นๆ (ไม่ใช่ว่าปัจจุบันไม่มีอวิชชา หรืออดีตไม่มีตัณหา อุปาทาน)
  2. สังขาร กับ ภพ : สังขาร กับ กรรมภพ ความหมายใกล้เคียงกัน คือ เจตนาที่เป็นตัวการในการทำกรรม, สภาพที่ปรุงแต่งด้วยเจตนา เป็นตัวการสำคัญที่ปรุงแต่งให้เกิดในภพชาติต่างๆ
  3. วิญญาณ ถึง เวทนา กับ ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ) : วิญญาณ ถึง เวทนา แสดงไว้เป็นอย่างๆเพราะมุ่งกระจายกระบวนธรรมออกให้เห็นอาการที่องค์ประกอบต่างๆของชีวิต เข้าสัมพันธ์กันจนเกิดองค์ประกอบอื่นๆต่อไป ส่วน ชาติ ชรามรณะ เป็นคำพูดแบบสรุป ต้องการเน้นในแง่การเกิดขึ้นของทุกข์ ให้เห็นจุดที่เชื่อมโยงกลับเข้าสู่วงจรอย่างเดิมได้อีก

      การอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทมุ่งให้เข้าใจกระบวนธรรมที่เป็นไปอยู่ตามธรรมชาติเป็นสำคัญ เพื่อมองให้เห็นสาเหตุและจุดที่จะต้องแก้ไข ส่วนรายละเอียดของการแก้ไขหรือวิธีปฏิบัติ ในส่วนของการตัดวงจรที่ตัณหา และอวิชชา ไม่ใช่เรื่องของปฏิจจสมุปบาทโดยตรง แต่เป็นเรื่องของมรรค

      ความในพระสูตร เล่าถึงการตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้าว่า ทรงสืบสาวว่า สภาพจิตที่เกิดขึ้นเวลานี้ ที่เป็นสุขเวทนา หรือ ทุกขเวทนา นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วพระองค์ก็ทรงสืบสาวหาเหตุปัจจัย ด้วยการตั้งคำถามแก่พระองค์เอง แล้วค้นหาสังเกตว่า ที่เวทนานี้เกิดขึ้นนั้น เพราะอะไรมี เวทนานี้จึงมี เมื่อทรงพิจารณาสืบสาวไป ก็ทรงเห็นว่า เพราะผัสสะมี เวทนาจึงมี จากนั้นพระองค์ก็ทรงตั้งคำถามแก่พระองค์เองต่อไปอีกว่า แล้วที่ผัสสะนี้มีล่ะ เพราะอะไรมี ฯลฯ พระองค์ทรงตรวจสอบสังเกตตามดูความเป็นไปในพระทัยของพระองค์เอง สืบสาวย้อนลำดับต่อไปๆ จนค้นพบความจริงตลอดสายของมัน

ปฏิจจสมุปบาทแบ่งเป็นสองแบบ คือ สมุทยวาร (ทุกขสมุทัย, สายเกิดทุกข์, อนุโลมปฏิจจสมุปบาท) และ นิโรธวาร (ทุกขนิโรธ, สายดับทุกข์, ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท)

      พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร อันเป็นที่มาของปัญหาหรือความทุกข์แล้ว ก็มิได้ทรงหยุดอยู่เพียงนั้น แต่ได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร อันเป็นกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ อีกด้วย เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ยิ่งกว่านั้น ยังทรงชี้ต่อไปถึงภาวะที่เลิศล้ำสมบูรณ์ ซึ่งมนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขแท้จริงได้ โดยไม่ต้องฝากตัวขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ไม่ต้องเอาสุขทุกข์ของตนไปพิงไว้กับสิ่งทั้งหลายที่แม้แต่ตัวมันเองก็ทรงตัวเอาไว้ไม่ได้เป็นธรรมชาติที่ต้องแปรปรวนไป

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วอวิชชา

      อวิชชาดับ > สังขารดับ > วิญญาณดับ > นามรูปดับ > สฬายตนะดับ > ผัสสะดับ > เวทนาดับ > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วตัณหา

      อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > นามรูป > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหาดับ> อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

      บ่อยครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกขนิโรธ โดยชูตัณหาเป็นตัวเด่น คือ เมื่อเสวยเวทนาแล้ว ไม่เกิดตัณหา ก็เพราะมีความรู้เท่าทันสภาวะสังขารของสิ่งที่เสพเสวย คือมีวิชชารองเป็นพื้นอยู่ เมื่อไม่มีอวิชชาสัมผัส เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่นำไปสู่ตัณหา ดังนั้นที่ว่าตัณหาดับ จึงบ่งถึงอวิชชาดับอยู่แล้วในตัว การที่ทรงแสดงแบบนี้ ก็เพื่อให้เห็นภาพในทางปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

      พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต

อาจแสดงแตกต่างกันออกไปได้อีกตามประเภทแห่งจิต เช่น

  • โลกุตรจิต “อวิชชา” ถูกแทนที่ด้วย “กุศลมูล” “ตัณหา” ถูกแทนที่ด้วย “ปสาทะ (ความผ่องใสแช่มชื่น)” ต่อด้วย “อธิโมกข์ (ความน้อมดิ่งไป ความปลงใจ)” จบที่ “ชรามรณะ” แต่เป็นการเกิดพร้อมแห่งธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่การเกิดพร้อมแห่งกองทุกข์
  • อกุศลจิต “ตัณหา” อาจถูกแทนที่ด้วย “ปฏิฆะ” (ความขุ่นเคืองใจ), “อุทธัจจะ” (ความฟุ้งซ่าน) เป็นต้น แล้วต่อด้วย “อธิโมกข์” แล้วต่อด้วย “ภพ” หรืออาจแทน “ตัณหา” “อุปาทาน” ด้วย “วิจิกิจฉา” (ความลังเลสงสัย) แล้วต่อด้วย “ภพ” เลยก็ได้ เป็นต้น (เปลี่ยนลักษณะของกิเลส)

คุณค่า

  1. ความเป็นไปของโลกเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุผล ไม่เป็นไปโดยลอยๆ โดยบังเอิญ ดังนั้นผลที่ต้องการจึงต้องสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ
  2. การกระทำเหตุปัจจัยเพื่อให้ได้ผล หรือเกิดประโยชน์ที่ต้องการ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในตัวเหตุปัจจัยอย่างถูกต้อง ปัญญาจึงเป็นคุณธรรมสำคัญ
  3. ความเข้าใจในกระบวนการของธรรมชาติว่าเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัย ย่อมช่วยลดหรือทำลายความหลงผิดที่เป็นเหตุให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตนของตนลงได้

      “เมื่อใด อริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิดแล้วความดับของโลกตามที่มันเป็นอย่างนี้ อริยสาวกนี้เรียกว่าเป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ก็ได้ ผู้ลุถึงสัทธรรมนี้ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขญาณก็ได้ ผู้อยู่ชิดประตูอมตะก็ได้” (อริยสาวกสูตร, 16/187)

      หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงความจริงของธรรมชาติให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่มีปัญหาในเรื่องที่ว่า สิ่งทั้งหลายยั่งยืนหรือขาดสูญ โดยนัยนี้ผู้ได้เห็นปฏิจจสมุปบาทชัดเจนแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมเห็นโลกตามที่มันเป็น ย่อมพ้นจากมิจฉาทิฏฐิต่างๆ เช่น สัสสตทิฏฐิ (เห็นว่ามีอัตตาคงอยู่เที่ยงแท้ยั่งยืน), อุจเฉททิฏฐิ (เห็นว่าขาดสูญ), ความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้าเดิมสุด (จากไม่มี ก็เกิดมีขึ้น), ความเข้าใจว่ามีสิ่งวิเศษนอกเหนือธรรมชาติ เป็นต้น

link : บทความ ปฏิจจสมุปบาทอย่างง่ายสำหรับผู้เริ่มศึกษา