1.28 ตัวอย่างกระบวนการของจิตแบบ “อติมหันตารมณ์”

อติมหันตารมณ์ พุทธธรรม

      ขณะจิตหนึ่งๆ ประกอบด้วยขณะเล็ก 3 ขณะ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรไป ขณะจิตเล็ก 3 ขณะนี้รวมเป็นขณะจิตใหญ่ขณะ 1 ขณะจิตใหญ่เกิดดับ 17 ขณะ รูปธรรมจึงดับหน 1 กล่าวคือ จิต เกิดดับเร็วกว่า รูป 17 เท่า

      ในที่นี้จะกล่าวถึงกระบวนการของจิตแบบที่เรียกว่า “อติมหันตารมณ์” ซึ่งเป็นจิตที่รับรู้ทางทวาร 5 (ปัญจทวารวิถี) ประกอบด้วย 17 ขณะจิตเล็ก ดังนี้

ขณะที่ 1         อตีตภวังคจิต              ภวังคจิตที่สืบต่อมา

ขณะที่ 2         ภวังคจลนจิต              ภวังคจิตเริ่มไหวตัวจากอารมณ์ใหม่ที่กระทบ

ขณะที่ 3         ภวังคุปัจเฉทจิต          จิตขาดจากกระแสภวังค์ของอารมณ์เก่า

ขณะที่ 4         ปัญจทวาราวัชชนจิต   จิตขึ้นสู่ปัญจทวาร, คำนึงถึงอารมณ์ใหม่ทางทวารนั้นๆ (ถ้าเป็นมโนทวารวิถี ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต)

ขณะที่ 5         ปัญจวิญญาณจิต         จิตรับรู้อารมณ์ในปัญจทวาร คือ เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ขณะที่ 6         สัมปฏิจฉันนจิต           จิตรับเอาอารมณ์จากปัญจวิญญาณ

ขณะที่ 7         สันตีรณจิต                  จิตพิจารณาไต่สวนเปรียบเทียบอารมณ์

ขณะที่ 8         โวฏฐัพพนจิต              จิตตัดสินอารมณ์, กำหนดอารมณ์

ขณะที่ 9-15    ชวนจิต                       การแล่นไปในอารมณ์ เกิดดับอยู่อย่างนี้ติดต่อกัน 7 ขณะ คือ รับรู้เสพทำต่ออารมณ์ เป็นช่วงที่ทำกรรม โดยจะเป็นกุศล อกุศล หรือกิริยา (เฉพาะพระอรหันต์) อยู่ใน 7 ขณะนี้

ขณะที่ 16-17   ตทาลัมพนจิต            จิตยึดหน่วงเอาอารมณ์ตามชวนะ เป็นการเกิดวิบากจิตที่ได้รับอารมณ์ต่อจากชวนะ เหมือนได้รับผลประมวลจากชวนะมาบันทึกเก็บไว้ก่อนตกภวังค์

      ในรายละเอียด วิถีจิตมีความเป็นไปแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ในปัญจทวารวิถีดังข้างต้นนั้น เป็นกรณีที่รับอารมณ์ซึ่งมีกำลังเด่นชัดมาก (เรียกว่า อติมหันตารมณ์) แต่ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏเข้ามามีกำลังไม่มากนัก (มหันตารมณ์) ภวังค์จะยังไม่ไหวตัวจนถึงภวังคจิตขณะที่ 3 หรือขณะที่ 4 จึงจะไหวตัวเป็นภวังคจลนะ ในกรณีอย่างนี้ ก็จะมีอตีตภวังค์ 2 หรือ 3 ขณะ และเมื่อขึ้นสู่วิถี ก็จะไปจบแค่ชวนะที่ 7 ดับ แล้วก็ตกภวังค์ โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้น ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏมีกำลังน้อย (ปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอดีตภวังค์ไปหลายขณะ (ตั้งแต่ 4 ถึง 9 ขณะ) จึงเป็นภวังคจลนะ และเมื่อขึ้นสู่วิถีแล้ว วิถีนั้นก็ไปสิ้นสุดลงแค่โวฏฐัพพนะไม่ทันเกิดชวนจิต ก็ตกภวังค์ไปเลย, และถ้าอารมณ์ที่ปรากฏนั้นอ่อนกำลังเกินไป (อติปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอดีตภวังค์ไปมากหลายขณะ จนในที่สุดเกิดภวังคจลนะขึ้นมาได้ 2 ขณะ ก็กลับเป็นภวังค์ตามเดิม คือภวังค์ไม่ขาด ไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นเลย เรียกว่าเป็นโมฆวาระ

      ส่วนในมโนทวารวิถี เมื่อภวังค์ไหวตัว (ภวังคจลนะ) และภวังค์ขาด (ภวังคุปัจเฉท) ขึ้นสู่วิถี จะมีเพียงมโนทวาราวัชชนะ แล้วเกิดเป็นวิถีจิต 7 ขณะต่อไปเลย ในกรณีที่อารมณ์ที่ปรากฏเด่นชัด (วิภูตารมณ์) ก็จะเกิดตทารมณ์ 2 ขณะ แล้วตกภวังค์ แต่ถ้าอารมณ์อ่อนแรงไม่เด่นชัด (อวิภูตารมณ์) พอครบ 7 ชวนะแล้ว ก็ตกภวังค์ไปเลย

      กรณีอื่นๆยังมีอีก เช่น เมื่ออ่อนกำลังชวนจิตเกิดแค่ 6 ขณะก็มี, ในเวลาจะสิ้นชีวิต ชวนจิตเกิดเพียง 5 ขณะ, ในเวลาเป็นลม สลบ ง่วงจัด เมาสุรา หรือกรณีมีปสาทวัตถุอ่อนกำลังยิ่ง อย่างทารกในครรภ์หรือเพิ่งเกิด ชวนจิตเกิดเพียง 4-5 ขณะ เป็นต้น

      ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นวิถีจิตในกามภูมิทั้งสิ้น ยังมีวิถีจิตในภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ในฝ่ายมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นจิตที่เป็นสมาธิขั้นอัปปนา และมีความเป็นไปที่แตกต่างจากวิถีจิตในกามภูมิ เช่น ชวนะ ไม่จำกัดเพียงแค่ 7 ขณะ เมื่อเข้าฌานแล้ว ตราบใดยังอยู่ในฌาน ก็มีชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอด นับจำนวนไม่ได้ โดยไม่ตกภวังค์เลย ถ้าเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นเมื่อใด ก็คือออกจากฌาน ดังนี้เป็นต้น