5) ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท (ย่อความ)

สังคายนาพระไตรปิฎก

(ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท ย่อความจากผลงานของ : อ.เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ภาค1/2, มีเพิ่มข้อความบางส่วน)

  1. ปฐมสังคายนา (หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน, อินเดีย)
    * ประกอบด้วยพระอรหันตบุคคลผู้ได้ปฏิสัมภิทาและอภิญญา 500 องค์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย (พระอริยบุคคลนอกนั้นตลอดลงมาถึงปุถุชนสงฆ์มิได้เข้าร่วม)

    * วัตถุประสงค์
    – เพื่อรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหลักฐาน ด้วยเหตุแห่งพระพุทธดำรัสที่ว่าพระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์
    – กำราบภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนไม่สมควร ซึ่งเชื่อกันว่าแม้สมัยนั้น อลัชชีภิกษุก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่ใช่น้อย

    * ในที่ประชุมนี้มีมติเห็นพ้องว่า แม้ก่อนพุทธปรินิพพาน พระบรมศาสดาจะมีพุทธานุญาติให้สงฆ์พิจารณาถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่สงฆ์จะพร้อมใจกันสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ไม่ถอนสิกขาบทแม้เล็กน้อยเลย เพื่อมิเป็นเหตุให้ชาวบ้านติเตียน
    * พระธรรมวินัยที่ลงมติกันไว้ในครั้งปฐมสังคายนาและได้นับถือกันสืบมา เรียกว่า เถรวาท แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการโดยพระเถระผู้ประชุมทำสังคายนาครั้งแรก
    * กลุ่มภิกษุที่ไม่เห็นด้วยกับปฐมสังคายนามีอยู่พอสมควร เช่น กลุ่มของพระปุราณะ และภิกษุ 500 รูป ซึ่งต้องการให้คงการผ่อนปรนสิกขาบทเกี่ยวกับการขบฉัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเคยผ่อนผันในยามข้าวยากหมากแพง แต่พระมหากัสสปะแจ้งว่าเมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองกลับเป็นปกติแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติสิกขาบทดังเดิม แต่พระปุราณะไม่รับ อ้างว่าเคยได้ฟังเฉพาะช่วงผ่อนผันสิกขาบถ ทั้งนี้ ตามหลักฐานในคัมภีร์ไม่ปรากฏว่าพระปุราณะผู้นี้มีประวัติความเป็นมาหรือมีบทบาทอย่างไรในสมัยพุทธกาล และกลุ่มของพระปุราณะก็ไม่มีบันทึกว่าประกอบด้วยพระอริยสงฆ์ผู้มีบทบาทในสมัยครั้งพุทธกาลเลย
  2. สังคายนาครั้งที่ 2 (ประมาณ 100 ปี หลังพุทธปรินิพพาน, อินเดีย)
    * พระอรหันต์ 700 องค์ มีพระสัพพกามีมหาเถระ ศิษย์ของพระอานนทเถรเจ้า เป็นประธาน
    * มูลเหตุแห่งการสังคายนาสืบเนื่องมาจากภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ 10 ประการ นอกพระธรรมวินัย โดยมากเกี่ยวกับการขบฉัน เช่น ภิกษุเก็บสะสมเกลือไว้ใส่ปรุงในอาหารได้, ภิกษุฉันอาหารหลังเวลาเพลได้, ภิกษุดื่มเหล้าอย่างอ่อนๆได้ เป็นต้น มาข้อสุดท้ายน่าสนใจ คือ ภิกษุรับและยินดีซึ่งเงินและทองหาได้เป็นอาบัติไม่ ซึ่งข้อนี้เอง เป็นมูลเหตุสำคัญแห่งการทำสังคายนาครั้งที่ 2
    (https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=109)
    ในประเด็นนี้ผู้บันทึกขอยกพุทธพจน์บทหนึ่งมานำเสนอไว้ด้วย ดังนี้
           “ดูกรนายคามณี ทองและเงินควรแก่ผู้ใด เบญจกามคุณก็ควรแก่ผู้นั้น เบญจกามคุณควรแก่ผู้ใด ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น ดูกรนายคามณี ท่านพึงทรงความที่ควรแก่เบญจกามคุณนั้นโดยส่วนเดียวว่า ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร อนึ่ง เรากล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย” (มณีจูฬกสูตร, 18/626)
    * การสังคายนาครั้งที่ 2 จึงเป็นการซักซ้อมความเข้าใจกันให้หนักแน่นในการธำรงรักษาพระธรรมวินัย โดยปราศจากข้อลดหย่อนเปลี่ยนแปลงใดๆ สงฆ์กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการสังคายนาของเถรวาทในครั้งนี้ และมีความเห็นในทางต้องการลดหย่อนสิกขาบท ได้แยกออกไปทำสังคายนาต่างหาก เรียกว่า “มหาสังคีติ” แปลว่า การสังคายนาของพวกหมู่มาก เกิดเป็นนิกาย “มหาสังฆิกะ”, ในการสังคายนาครั้งที่ 1 ก็มีกลุ่มของพระปุราณะที่ไม่เห็นด้วย แล้วแยกไปทำสังคายนาต่างหาก แต่เข้าใจว่ายังไม่ได้มีการแยกนิกายกันอย่างชัดเจน พึ่งจะมาแยกเด็ดขาดเป็นสองนิกาย คือ “เถรวาท” และ “มหาสังฆิกะ หรือ อาจริยวาท” ในช่วงการสังคายนาครั้งที่ 2 นี่เอง
  3. สังคายนาครั้งที่ 3 (ประมาณ พ.ศ. 235, อินเดีย)
    * เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยพระอรหันต์ 1,000 องค์ มีพระโมคคัลลีบุตรติสสะ เป็นประธาน
    * มูลเหตุแห่งการสังคายนาสืบเนื่องมาจากความวิบัติแห่งศีลสามัญญตาและทิฏฐิสามัญญตารุนแรงขึ้นเป็นลำดับ พระพุทธศาสนาแตกแยกกันออกเป็น 18 นิกาย รวมถึงมีผู้ปลอมบวชเป็นจำนวนมากเพื่อหวังลาภสักการะ
    * นิกายมหายานไม่ยอมรับการสังคายนาครั้งนี้ และในกาลต่อมาก็ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายมหายานขึ้น
    * ในการสังคายนาครั้งนี้พระโมคคัลลีบุตร ได้รจนาคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ และรักษาพระพุทธมติอันบริสุทธิ์ไว้
    * เมื่อสังคายนาเสร็จสิ้น ท่านได้ทราบโดยอนาคตังสญาณว่า ภายภาคหน้าพระพุทธศาสนาจะหารุ่งเรื่องอยู่ในชมพูทวีปไม่ จึงได้ส่งคณะสมณทูต 9 สาย ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ (สายหนึ่งมายังสุวรรณภูมิ ซึ่งนักโบราณคดีส่วนมากเชื่อว่าหมายถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา, บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ อันสร้างเป็นอนุสรณ์แก่คณะสมณฑูตที่จาริกมานี้)
  4. สังคายนาครั้งที่ 4 (ประมาณ พ.ศ. 238, ศรีลังกา)
    พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศก ประธานคณะธรรมทูตที่ได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ เกาะลังกา เมื่อปักหลักพระศาสนาได้มั่นคงแล้ว ได้ทำการสังคายนาเพื่อปรับภาษาให้เข้ากับภาษาลังกา
  5. สังคายนาครั้งที่ 5 (พ.ศ. 433, ศรีลังกา)
    ในครั้งนั้น มีความกังวลว่าความทรงจำของพุทธบริษัทจะเสื่อมลง จึงได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัย แล้วจารึกเป็นตัวอักษรลงในใบลาน
  6. สังคายนาครั้งที่ 6 (พ.ศ. 956, ศรีลังกา)
    โดยพระพุทธโฆษาจารย์และคณะ ส่วนมากเป็นงานชำระอรรถกถา
  7. สังคายนาครั้งที่ 7 (พ.ศ. 1587, ศรีลังกา)
    โดยมากเป็นการแต่งฏีกา
  8. สังคายนาครั้งที่ 8 (พ.ศ. 2020, ไทย)
    สมัยพระเจ้าติโลกราช พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา มีพระธรรมทินนาเถระเป็นประธาน โดยเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลี จารึกด้วยอักษรล้านนา
  9. สังคายนาครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2331, ไทย)
    * เนื่องจากงานรวบรวมพระไตรปิฎกที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงเริ่มไว้ยังค้างอยู่ มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชปรารภว่า การศึกษาของคณะสงฆ์ย่อหย่อนลงไป เพราะพระไตรปิฎกมีข้อความวิปลาสคลาดเคลื่อนมาก จึงตรัสให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน พร้อมกับพระมหาเถรานุเถระจำนวน 218 รูป และราชบัณฑิต 32 คน ประชุมกันทำสังคายนา โดยเป็นภาษาบาลี อักษรขอม จารึกในใบลาน

    * ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงปรารภว่าพระไตรปิฎกที่เขียนไว้ในใบลานไม่มั่นคง ทั้งจำนวนก็มาก ยากที่จะรักษา และเป็นตัวขอม ผู้ไม่รู้อ่านไม่เข้าใจ จึงโปรดให้ถ่ายจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย และพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ได้จบละ 39 เล่ม เสร็จในปี พ.ศ. 2436 ไทยจึงเป็นชาติแรกที่พิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นเป็นเล่มหนังสือ
    * พ.ศ. 2468 สมัยรัชกาลที่ 7 เพิ่มเติมส่วนที่ขาดจนครบสมบูรณ์ 45 เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พระราชทานไปยังประเทศต่างๆ และสถานศึกษาต่างๆที่ขอมา ทำให้พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรไทยแพร่หลายไปในนานาประเทศ
    * ในสมัยรัชกาลที่ 9 ปราชญ์บางท่านถือว่าเป็นยุคทองของพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐภาษาบาลีอักษรไทย ได้ถูกแปลถ่ายทอดลงสู่ภาษาไทย เพื่อร่วมในพิธีฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500, พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525, พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ฉบับภาษาไทย เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2542 ปัจจุบันประเทศไทยจึงมีพระไตรปิฎกฉบับแปลไทยเสร็จสมบูรณ์ถึง 3 ฉบับ