2.5.3.4 สติปัฏฐาน 4

กายคตาสติ การปฏิบัติ

สติปัฏฐาน 4

      สติปัฏฐาน 4 แปลว่า ที่ตั้งของสติ, วิธีปฏิบัติเพื่อใช้สติให้บังเกิดผลดีที่สุด, การพัฒนาปัญญาโดยมีสติเป็นตัวเด่น หมายถึง การมีสติพร้อมอยู่อันกำกับจิตไว้ ให้ทันต่ออารมณ์ คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องรับรู้รับทราบ โดยช่วยให้ปัญญาตามดูรู้ทันมองเห็นสิ่งนั้นๆตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆมันเป็นของมัน ไม่เกิดมีความติดใจ-ขัดใจ ปรุงแต่ง-เอนเอียง ขึ้นมาครอบงำตามอำนาจของกิเลสตัณหา ดำรงจิตเป็นอิสระ เบิกบาน ปลอดโปร่งจากโทมนัส คือ ปราศจากทุกข์ทางใจ

      ขอแทรกเรื่องคำศัพท์ที่น่าสนใจ พระพุทธเจ้าทรงตรัสในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์…” คำว่าที่ไปอันเอก (เอกายนมรรค) อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรขยายความว่าหมายถึง 1. ทางที่พึงปลีกตัวไปผู้เดียว 2. ทางที่มุ่งไปสู่นิพพานอย่างเดียว 3. ทางที่มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นทำให้เกิดขึ้น 4. หนทางที่มีในธรรมวินัยนี้เท่านั้นไม่มีในไม่มีในศาสนาอื่น ส่วนใน โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส, 30/595 ท่านว่า โพธิปักขิยธรรมทั้งหมดนั้นแหละ คือ เอกายนมรรค

      จึงมิใช่ว่าสำเร็จได้เฉพาะทางสายนี้สายเดียว สายอื่นมิใช่ทาง เพราะการเจริญโลกุตรปัญญาไม่ว่าจะใช้แนวทางใด ย่อมมีหลักการและจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีแก่นสารสาระเดียวกัน คือเพื่อละความยึดติดถือมั่น ต่างกันเพียงกลวิธีในการปฏิบัติและสำนวนภาษา พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า “มรรคนั้นต่างกันโดยเทศนา แต่โดยอรรถก็อันเดียวกันนั้นเอง” กล่าวคือ การเจริญวิปัสสนาในแนวทางใดก็ตาม เสมือนเป็นการขยายความโลกุตรธรรมที่ท่านตรัสไว้โดยย่อในจูฬตัณหาสังขยสูตร (12/434) ว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น…” นั่นเอง (ธรรม ในที่นี้ใช้ในความหมายกว้าง หมายถึง สิ่งทั้งปวง)

      “ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการ เป็นไฉน
      ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
      พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
      พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
      พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ”

(มหาสติปัฏฐานสูตร, 10/273)

      อนึ่ง ในพระคัมภีร์ใช้คำว่า เห็นกายในกาย หมายถึง มีสติตรงชัดต่อความจริงแค่ที่ว่า เห็นกายเป็นกาย ไม่ใช่เลยไปเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ของตน ของเขา ของใคร เป็นต้น ทั้งนี้เพียงเพื่อเป็นความรู้และสำหรับใช้ระลึก คือเพื่อเจริญสติสัมปชัญญะ ให้สติปัญญาเจริญเพิ่มพูน มิใช่เพื่อจะคิดปรุงแต่งฟ่ามเฝือ, แม้สำนวน เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม ก็พึงเข้าใจอย่างเดียวกันนี้

     สังเกตข้อความที่ท่านตรัสกำกับไว้ข้างท้ายของทุกหัวข้อ คือ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (ละความชอบความชังเสียได้) ข้อความนี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นการแสดงเป้าหมายของการปฏิบัติสติปัฏฐาน คือ เมื่อปฏิบัติถูกทางแล้วทำให้ความอยากด้วยตัณหาสงบลงไป ความทุกข์ใจใดๆอันจะต้องแฝงมาเพราะความไม่สมอยากย่อมสงบไปด้วย เกิดความเบิกบานขึ้นในจิตใจเข้ามาแทนที่ในปัจจุบันขณะ

     ใจความพุทธพจน์ที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นส่วนของบทนำซึ่งเป็นย่อหน้าแรกของ “มหาสติปัฏฐานสูตร” ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาที่ท่านได้ทรงอธิบายขยายความแนวทางในการปฏิบัติโดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ในที่นี้ขอยกเนื้อหาในส่วน กายานุปัสสนาหมวดอิริยาบถ มาให้พิจารณา ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’
หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’
ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใดๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้นๆ ด้วยวิธีนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล”

     ตามที่ผู้จดบันทึกเข้าใจ (โปรดใช้วิจารณญาณ) หลักการของสติปัฏฐานก็คือ การหยิบยกสิ่งใดๆในโลก (กาย เวทนา จิต ธรรม) ที่พบในชีวิตประจำวันทั่วไปขึ้นมาตั้งพิจารณาตามความเป็นจริง ทั้งในตนและในผู้อื่น ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับไปตามเหตุปัจจัยเพื่อละความยึดติดถือมั่นนั่นเอง (เห็นธรรมเป็นเหตุเกิด เห็นธรรมเป็นเหตุดับ … มีอยู่ ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลก …) กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานเมื่อพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ให้พิจารณาว่าสิ่งนั้นๆมีอยู่เพื่อให้หมายรู้และทำความเข้าใจไปตามความเป็นจริง คือ เห็นถึงไตรลักษณ์ มิใช่เห็นเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดติดถือมั่นไว้ เมื่อมีสติพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงแล้วกิเลสทั้งหลายก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีความเบิกบาน ผ่องใส พ้นจากทุกข์ทางใจ ดังที่ท่านว่า “เป็นทั้งการป้องกันกิเลสใหม่และรื้อถอนกิเลสเก่าไปในตัว”

สติปัฏฐาน 4 มีเนื้อความโดยย่อ ดังนี้

1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

      การพิจารณาตามดูรู้ทันกาย เพื่อเห็นตามความเป็นจริงถึงความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปของกาย แล้วละวางความยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสในกายตน ละวางความยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสในกายผู้อื่น มีสติรู้ว่ากายมีอยู่เพื่อให้หมายรู้ไปตามความเป็นจริง มิใช่เพื่อให้ยึดติดถือมั่นไว้ ผู้ปฏิบัติไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายเช่นใด สิ่งทั้งปวงในโลกก็ไม่พึงยึดมั่นถือมั่นเช่นนั้น เมื่อพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้ ตัณหาย่อมจางคลายไป ปลอดโปร่งด้วยความไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดๆไว้ด้วยกิเลส

     ทั้งนี้ อรรถกถาจารย์ท่านได้ขยายความว่า การกำหนดรู้กายเพียงว่าขณะนั้นกำลังทำอะไร แต่มิได้พิจารณาเพื่อเพิกถอนความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ยังไม่จัดเป็นการเจริญสติปัฏฐานเลย การกำหนดรู้เพียงแค่นี้แม้สัตว์ต่างๆทั่วไปก็มี (ดูอรรถกถา อิริยาบถบรรพ), กล่าวอีกสำนวนว่า ยังไม่ได้มีสติสัมปชัญญะมองเห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งต่างๆในโลกเกิดดับไปตามเหตุปัจจัยจึงเป็นของ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ยังไม่ถือว่าได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน

2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

      การพิจารณาตามดูรู้ทันเวทนา (ความสุข ทุกข์) ทั้งชนิดที่เป็น สามิส (สุขเจืออามิส, สุขที่เกิดจากกามคุณ) และนิรามิส (ไม่ต้องอาศัยกามคุณเป็นเครื่องล่อ คือ สุขจากสมาธิ สุขจากความปลอดกิเลส) เพื่อเห็นตามความเป็นจริงถึงความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปของเวทนา แล้วละวางความยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสในเวทนาของตนและผู้อื่น มีสติรู้ว่าเวทนามีอยู่เพื่อให้หมายรู้ไปตามความเป็นจริง มิใช่เพื่อให้ยึดติดถือมั่นไว้ ผู้ปฏิบัติไม่ยึดมั่นถือมั่นในเวทนาเช่นใด สิ่งทั้งปวงในโลกก็ไม่พึงยึดมั่นถือมั่นเช่นนั้น เมื่อพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้ ตัณหาย่อมจางคลายไป ปลอดโปร่งด้วยความไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดๆไว้ด้วยกิเลส

3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

      การพิจารณาตามดูรู้ทันจิต เช่น ขณะนี้จิตของตนมีกิเลสอะไรแสดงตัวอยู่ จิตเป็นสมาธิ จิตฟุ้งซ่าน เป็นต้น ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ เพื่อเห็นตามความเป็นจริงถึงความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปของจิต แล้วละวางความยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสในจิตของตนและผู้อื่น มีสติรู้ว่าจิตมีอยู่เพื่อให้หมายรู้ไปตามความเป็นจริง มิใช่เพื่อให้ยึดติดถือมั่นไว้ ผู้ปฏิบัติไม่ยึดมั่นถือมั่นในจิตเช่นใด สิ่งทั้งปวงในโลกก็ไม่พึงยึดมั่นถือมั่นเช่นนั้น เมื่อพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้ ตัณหาย่อมจางคลายไป ปลอดโปร่งด้วยความไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดๆไว้ด้วยกิเลส

4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

     การพิจารณาตามดูรู้ทันธรรม คือ รู้ชัดว่าธรรมนั้นๆมีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร กล่าวคือ นิวรณ์ 5, อุปาทานขันธ์ 5, (สังโยชน์ใน)อายตนะ 6, โพชฌงค์ 7, อริยสัจ 4 เพื่อเห็นตามความเป็นจริงถึงความเกิดขึ้น และความดับไปของธรรมเหล่านั้นที่มีในตน แล้วละวางความยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสในธรรมทั้งหลาย มีสติรู้ว่าธรรมมีอยู่เพื่อศึกษาปฏิบัติให้เจริญยิ่งขึ้นไป มิใช่เพื่อให้ยึดติดถือมั่นไว้ ผู้ปฏิบัติไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมเช่นใด สิ่งทั้งปวงในโลกก็ไม่พึงยึดมั่นถือมั่นเช่นนั้น เมื่อพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้ ตัณหาย่อมจางคลายไป ปลอดโปร่งด้วยความไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดๆไว้ด้วยกิเลส

     กล่าวคือ เมื่อศึกษาธรรมต่างๆแล้ว พึงละวางความยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสในธรรมทั้งหลายด้วย เช่น ความถือตัวว่าได้รู้ได้ศึกษามามาก, ความยึดมั่นไว้ด้วยกิเลสว่าธรรมนี้เป็นของตน ธรรมนี้มีในตน เป็นต้น มีสติรู้ว่าธรรมมีอยู่เพื่อศึกษาปฏิบัติให้เจริญยิ่งขึ้นไป มิใช่เพื่อให้ยึดติดถือมั่นไว้ ดังที่ท่านเปรียบเทียบว่า เมื่อข้ามถึงฝั่งแล้วก็พึงวางแพเสีย คือ ไม่ให้ยึดติดถือมั่นแม้ในสิ่งที่ตนได้ศึกษามา ขอยกพุทธพจน์จากพระสูตรอีกบทหนึ่งมาแทรกไว้ ดังนี้

      “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมมีอุปมาด้วยแพ เพื่อต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการยึดถือ ฉันนั้นแล เธอทั้งหลายรู้ถึงธรรมมีอุปมาด้วยแพที่เราแสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย พึงละแม้ซึ่งธรรมทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า” (อลคัททูปมสูตร, 12/280)

     นอกจากนี้ควรศึกษา สติปัฏฐานกถา, 31/726-730 ประกอบด้วย เนื่องจากเป็นบทที่อธิบายหลักการปฏิบัติโดยใช้สำนวนต่างกันเล็กน้อย เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจนยิ่งขึ้น