3.5 ระดับขั้นของความสุข

ความสุขในพุทธศาสนา คือ

      ความสุขมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า พุทธจริยธรรมไม่แยกต่างหากจากความสุข เริ่มแต่ขั้นต้น ในการทำความดีหรือกรรมดีทั่วๆไป ที่เรียกว่าบุญ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า “บุญเป็นชื่อของความสุข” (ปุญญวิปากสูตร, 23/59) ในการเจริญภาวนา บำเพ็ญเพียรทางจิต ความสุขก็เป็นปทัฏฐานให้เกิดสมาธิ แม้ฌานในระดับสูง ไม่มีสุขเป็นองค์ฌาน ก็พึงเข้าใจว่าเป็นความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก

      จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน เป็นบรมสุข คือ สุขสูงสุด ก็พึงบรรลุได้ด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์ (หมายถึง ทุกรกิริยา, ไม่พึงสับสนกับ ทุกขาปฏิปทา ซึ่งคำว่าทุกข์ในที่นั้น หมายถึง ปฏิบัติด้วยความยากลำบาก)

ระดับขั้นของความสุข แนวที่ 1 : แบ่งออกเป็น 10 ขั้น 3 ระดับ

      ระดับที่ 1. กามสุข (ขั้นที่ 1)
      กามสุข แปลว่า ความสุขทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (เรียกว่า สามิสสุข, อามิสสุข ตรงข้ามกับ นิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม)

      ระดับที่ 2. ฌานสุข (ขั้นที่ 2-9)
ได้แก่ รูปฌาน 4, อรูปฌาน 4 จัดเป็นเป็นนิรามิสสุข ภาวะในฌาน ท่านเรียกว่าเป็นนิพพานได้โดยปริยาย คือ เทียบคล้ายในบางด้าน

      ระดับที่ 3. นิโรธสมาบัติสุข (ขั้นที่ 10)
เป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่เข้าได้เฉพาะพระอนาคามี และพระอรหันต์ ท่านจัดเป็น นิพพานโดยนิปริยาย คือ โดยตรง แต่ยังเป็นของชั่วคราว ข้อนี้อาจเรียกว่า นิพพานสุขก็ได้ ซึ่งในความหมายอย่างที่ผ่อนลงมา ถือเป็นความสุขที่มีอยู่เป็นปกติของพระอริยบุคคลทุกลำดับ ตามระดับขั้นของภูมิธรรม

      สุขทั้ง 3 ระดับนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณีตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงภาวะที่เป็นที่หมายโดยสมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป ข้อที่ว่านี้ ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม

     พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้นแล้ว จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสทำนองเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกว่า ถึงหากอริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่งนัก แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วกเวียนกลับมาหากามอีก

     ในทำนองเดียวกันนั้น ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจำเพาะว่า ถ้าผู้บวชแล้ว ยังมิได้ประสบปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลาย เช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงำจิตได้ หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้ (อาจารย์บางท่านจึงมักแนะนำให้ผู้ที่ต้องการบวชเจริญอุปจารสมาธิให้ได้ก่อนเป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร, ธรรมเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)

     สำหรับคฤหัส พระพุทธเจ้ามิได้ทรงเพ่งแต่จะสอนให้ละเลิกความเกี่ยวข้องกับกามคุณไปถ่ายเดียว แต่ทรงสอนให้รู้จักปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง โดยยังคงความเป็นอิสระอยู่ได้ ไม่ตกไปเป็นทาสของกามคุณ และมิให้กามคุณกลายเป็นสิ่งก่อโทษทุกข์ภัย กล่าวคือ ทั้งที่กามคุณยังเป็นของขาดพร่องแหว่งเว้านี้แหละ เมื่อรู้จักบริหารจัดการได้ดี ก็ยังเป็นคุณที่ดีแก่ชีวิตและขยายออกไปให้เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่สังคมให้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ยิ่งกว่านั้น ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒนาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไปๆ (ดูธรรมหมวด กามโภคีสุข 4 : สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี)

     ความที่ยกมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือความสุขเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ยังให้ข้อสังเกตต่อไปว่า การที่อริยสาวกละกามนั้น มิใช่เพราะกามไม่มีความสุข แต่อริยสาวกละกาม เพราะเห็นว่า กามมีความสุขก็จริง แต่ยังปะปนด้วยทุกข์มาก และข้อสำคัญคือ ยังมีความสุขอย่างอื่นที่สุขยิ่งกว่า อริยสาวกละกาม ก็เพราะได้ประสบความสุขที่ประณีตกว่านั้น

ความสุขคืออะไร พุทธศาสนา

ระดับขั้นของความสุข แนวที่ 2 : แบ่งออกเป็น 2 ระดับ

  1. ความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ : ขั้นโลกียะ
    1.1) ความสุขเมื่อได้สนองตัณหา (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นอกุศล)

    1.2) ความสุขเมื่อได้สนองฉันทะ (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นกุศล)
  2. ความสุขทุกกาล โดยไม่ต้องสนองความต้องการ : ขั้นโลกุตระ

     ความสุขในระดับโลกียะ มีความหมายว่า การได้สนองความต้องการ หรือ ความสมอยาก สมปรารถนา, คนมีความอยากต้องการอย่างไหน (ตัณหา, ฉันทะ) เมื่อเขาได้สนองความต้องการอย่างนั้น เขาก็มีความสุข ดังนั้น ก็แสดงว่าความสุขนั้นยังไม่มีอยู่ จึงต้องรอการได้สนอง

     ความสุขขั้นโลกุตระนี้มีเป็นคุณสมบัติในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องขึ้นต่อการสนอง ทั้งไม่ต้องหา และไม่ต้องสร้าง (พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีฉันทะเต็มบริบูรณ์ แต่ความสุขของท่านไม่ขึ้นต่อการสนองฉันทะ คือท่านมีความสุขอยู่แล้วเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง)

      เทียบกับแนวที่ 1. ขั้นที่ 1-9 เป็นโลกียสุข, ขั้นที่ 10 เป็นโลกุตรสุข

      “กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร, 25/12-13)

      “ดูก่อนอานนท์ มีฐานะอยู่ที่นักบวชเจ้าลัทธิอื่นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมบัญญัติสัญญาเวทยิตนิโรธ (นิโรธสมาบัติ) ในความสุข ข้อนั้นคืออะไรกัน? เป็นไปได้อย่างไรกัน? ดูก่อนอานนท์ท่านพึงชี้แจงว่า ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงบัญญัติในความสุขหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียว ในที่ใดๆย่อมหาความสุขได้ ในฐานะใดๆมีความสุข พระผู้มีพระภาคย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆในความสุข” (ภิกขุสูตร, 18/426)

      “ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค, 25/25)

      ในขณะที่พวกชาวสวรรค์บันเทิงด้วยวัตถุและกิจกรรมทางกามสุข พวกชั้นพรหมอิ่มอยู่กับความสุขทางจิตถึงขั้นฌานสุข และพระอรหันต์ลุนิพพานสุข พ้นไปแล้วจากเยื่อใยในอามิสสุข บุคคลโสดาบันเข้าถึงความสุขใน 3 ภูมินั้น ทั้งกามสุข ทั้งอธิจิตตสุข (สุขด้วยคุณธรรมเช่น พรหมวิหารธรรม และฌาน) และโลกุตรสุข โดยยังไม่ทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใด

บทที่เกี่ยวข้อง : พระโสดาบัน