1.20 พระอริยบุคคล 7 (ทักขิไฌยบุคคล 7)

ทักขิไณยบุคคลพุทธธรรม

      พระอริยบุคคล 7 (ทักขิไฌยบุคคล 7) เป็นการแสดงระดับขั้นของท่านผู้บรรลุธรรม โดยแยกตามอินทรีย์เด่น บุคคลที่ 1, 2 ได้แก่พระอรหันต์ ; บุคคลที่ 3, 4, 5 ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค + พระอนาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามีมรรค + พระสกทาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามีมรรค + พระโสดาบัน ; บุคคลที่ 6, 7 ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค

  1. อุภโตภาควิมุต : ผู้ได้สัมผัสด้วยกาย ซึ่งวิโมกข์อันละเอียด (คืออรูปฌานขึ้นไป บางท่านได้โลกียอภิญญา) และพัฒนาต่อด้วยปัญญาจนหลุดพ้น ในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์อุภโตภาควิมุต มีจำนวนน้อยกว่าปัญญาวิมุต
  2. ปัญญาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้อาสวขยญาณอย่างเดียว ไม่ได้โลกิยอภิญญา, สมาธิไม่เกินกว่าขั้นรูปฌาน 4, บางครั้งท่านแยกออกอีกเป็น 2 พวกคือ ได้ฌานเฉพาะในขณะที่บรรลุอรหัตตผล เรียก สุกขวิปัสสก ได้รูปฌาน เรียก ปัญญาวิมุต
  3. กายสักขี : ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (ได้สมาธิถึงขั้นอรูปฌาน)
  4. ทิฏฐิปปัตตะ : ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ
  5. สัทธาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ
  6. ธัมมานุสารี : ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ
  7. สัทธานุสารี : ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต

      พึงเข้าใจว่า ไม่ว่าผู้ใดจะมีอินทรีย์ใดแรงกล้า แต่ในเวลาตรัสรู้ ปัญญา ย่อมทำหน้าที่เป็นใหญ่

      ไม่พึงสับสนกับ เจโตวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้านจิต เป็นผลของสมถะ มีสมาธิในขั้นฌานขึ้นไปเป็นตัวนำ ปุถุชน ก็อาจมีเจโตวิมุตติได้ด้วยกำลังของสมาธิระดับฌานขึ้นไป แต่จะเสื่อมได้, ปัญญาวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยปัญญา เป็นผลของวิปัสสนา ซึ่งเป็นการกล่าวถึงภาวะและอาการ ผู้บรรลุอรหัตตผล จะต้องได้เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตตินี้ ครบทั้งสองอย่างทุกบุคคล อย่างไรก็ตามถ้าจัดอย่างไม่เคร่งครัด หรือเน้นอินทรีย์ที่เด่นก็พอใช้เรียกได้ เช่น จัดให้พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุต (แต่ท่านก็สำเร็จสมาบัติ 8 และนิโรธสมาบัติ) จัดให้พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตติ จัดให้พระวักกลิเป็นพระอรหันต์ประเภทสัทธาวิมุตติ เป็นต้น

      ผู้ปฏิบัติแม้ใช้วิธีเจริญวิปัสสนาล้วนๆ สมาธิก็พลอยได้รับการฝึกอบรมไปด้วย จนในที่สุดเมื่อถึงขณะบรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็แน่วสนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน เป็นอันสอดคล้องกับหลักว่า ผู้บรรลุอริยภูมิ จะต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาครบทั้งสองทั่วกันทุกบุคคล (ในผู้ที่ไม่ได้ฌานมาก่อน อัปปนาสมาธิเกิดแค่เฉพาะช่วงมรรคจิต ผลจิต เท่านั้น)

      “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 2 อย่างนี้ คือ ธรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดวิชชา ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา

      สมถะ เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? จิตจะได้รับการเจริญ เมื่อจิตเจริญแล้ว จะละราคะได้

      วิปัสสนา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? ปัญญาจะได้รับการเจริญ เมื่อปัญญาเจริญแล้ว จะละอวิชชาได้” (พาลวรรค, 20/275-276)