ประโยชน์ของสมาธิ
- ประโยชน์ของสมาธิที่เป็นจุดมุ่งหมายตามหลักพระพุทธศาสนา คือ เพื่อสนับสนุนการใช้ปัญญา เนื่องจากสมาธิทำให้เกิดภาวะจิตที่เรียกว่า นุ่มนวล ควรแก่งาน
ดังพุทธพจน์ “ผู้มีใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง” (เจตนาสูตร, 24/209) - บรรลุภาวะที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราว (ถ้าในขั้นฌาน ก็เรียกได้ว่าเป็น นิพพานโดยปริยาย คือ โดยเทียบคล้าย) ซึ่งความสุข สงบ อันประณีตลึกล้ำ ที่บังเกิดแก่ผู้เข้าถึง เป็นข้อมูลชั้นดีในการเจริญปัญญาเพื่อละกิเลสอย่างถอนรากถอนโคนในลำดับต่อไป
- ผู้สำเร็จสมาธิถึงขั้นอรูปฌาน บางคนได้อภิญญา
- ทำให้จิตใจผ่อนคลาย มีความสุข ผ่องใส เบิกบาน
- อาจใช้กำลังสมาธิระงับทุกขเวทนาไว้ในขณะเจ็บป่วย (ให้จิตไปจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐานแทน)
- เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน
- ทำให้ได้ภพวิเศษ คือ อานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา และฌานไม่ได้เสื่อมไปเสีย ทำให้ได้เกิดในพรหมโลก, สมาธิขั้นอุปจาร ทำให้ได้เกิดในกามาวจรสวรรค์
องค์ประกอบต่างๆที่ส่งเสริมสมาธิ
- ศีลเป็นฐานของสมาธิ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นให้ เหมือนกับช่วยส่งผลอยู่ไกลๆ
- ความสุข เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของสมาธิ พึงกำหนดไว้เป็นข้อสังเกตสำคัญ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นสมาธินั้น อย่างน้อยในขั้นต้น จะต้องมากับความสุข
- อินทรีย์ ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องวัดความพร้อม และบ่งชี้ความก้าวหน้าช้าหรือเร็วของบุคคล ในการปฏิบัติธรรม (มิใช่เฉพาะสำหรับการเจริญสมาธิเท่านั้น) ลำดับการเรียงอินทรีย์ทั้ง 5 อย่างนี้ เรียงตามความสำคัญ
ความเสื่อมถอยของสมาธิ ขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ (ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน) 3 พวก
- กิเลส : พวกที่ยังไม่ได้กำจัดให้หมดสิ้นไป
- ปัจจัยสนับสนุนอ่อนกำลังลง : เช่น ศรัทธา ฉันทะ ความเพียร เป็นต้น
- ปัจจัยแวดล้อมด้านร่างกายหรือวัตถุภายนอก : โรคภัยไข้เจ็บ ความไม่สะดวก ยากลำบากแร้นแค้น เป็นต้น