2.2 บุพนิมิตแห่งมรรค

บุพนิมิตแห่งมรรคเหตุปัจจัยการเกิดสัมมาทิฏฐิ

      บุพนิมิตแห่งมรรค ปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นของสัมมาทิฏฐิ รุ่งอรุณแห่งการศึกษาและปัญญา

      สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นขั้นเริ่มแรกและเป็นแกนกลางในระบบการศึกษาตามหลักการของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ ชัดเจน เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด กล่าวได้ว่าถ้าไม่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็แก้ปัญหาดับทุกข์ไม่สำเร็จ

      ดังพุทธพจน์ “ธรรมรถ ประกอบด้วยล้อ คือ ธรรม, หิริ เป็น ฝา, สติ เป็นเกราะกั้น, สัมมาทิฏฐิ นำหน้าเป็นสารถี บุคคลใดมียานเช่นนี้ เขาย่อมใช้ยานนั้น ขับไปถึงในสำนักแห่งนิพพาน” (อัจฉราสูตร, 15/144)

ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ หรือ เรียกว่า บุพนิมิตแห่งมรรค มี 2 ประการ คือ

  1. ปรโตโฆสะ = องค์ประกอบภายนอก : ที่สำคัญที่สุดคือกัลยาณมิตร ในระดับสูงสุดคือพระบรมศาสดา ครูอาจารย์ มิตรสหาย ตลอดจน หนังสือ สื่อการสอนต่างๆ เป็นฝ่ายศรัทธา ปัจจัยทางสังคมที่ดีงามนั้น เป็นทั้งเครื่องจุดชนวนความรู้จักคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ และเป็นเครื่องประคับประคองคอยเสริมเติม และกระตุ้นโยนิโสมนสิการนั้นในระหว่างก้าวเดินคืบหน้าต่อๆไป
  2. โยนิโสมนสิการ = องค์ประกอบภายใน : ความคิดชนิดที่ทำให้เกิดการใช้ปัญญา ความคิดที่ทำให้ปัญญานั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป แปลให้ง่ายคือ ความฉลาดคิด เป็นฝ่ายปัญญา เป็นตัวชี้ขาดในการบรรลุสัจธรรม

      เมื่อธรรม 2 ข้อนี้ เป็นปัจจัยให้สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น จึงจัดว่าธรรม 2 ข้อนี้เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญขึ้นในกุศลธรรม

      ข้อตัดสินว่า ทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้สำเร็จ คือ ทำให้ผู้เสวนาเกิดมีสัมมาทิฏฐิ ถ้าตรงกันข้ามจากนี้ คือ ได้ผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ประสบปรโตโฆสะที่ผิดพลาด และใช้ความคิดผิดวิธี ไม่ฉลาดคิด เป็นอโยนิโสมนสิการ ก็จะได้รับผลตรงข้าม คือเป็นมิจฉาทิฏฐิไปได้

      อย่างไรก็ตาม กัลยาณมิตรล้วนๆ ส่งผลได้ถึง โลกิยสัมมาทิฏฐิ (ขั้นศรัทธา) เท่านั้น ผู้ปฏิบัติต้องมี โยนิโสมนสิการ มารับช่วงทำงานต่อไป จึงจะสามารถนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ กัลยาณมิตรที่ดี พึงช่วยจุดชนวนโยนิโสมนสิการในตัวผู้เรียนขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดฉันทะ และการศึกษาของเขาก็ก้าวหน้าต่อไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นได้ด้วยตัวเขาเอง

      พึงสังเกตว่า แม้แต่ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นบาปหรือความชั่ว ถือว่าเป็นเพียงสิ่งที่จะต้องแก้ไขให้รู้แน่ชัดลงไปจนหมดสงสัย ด้วยวิธีการแห่งปัญญา และยังส่งเสริมให้ใช้ความคิดสอบสวนพิจารณาตรวจสอบอีกด้วย (เอหิปัสสิโก : ควรเรียกให้มาดู เชิญชวนให้มาชม ท้าทายต่อการตรวจสอบ)

      พุทธพจน์ที่กล่าวถึงความสำคัญของปัญญา “เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์อย่างเดียว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้ อินทรีย์อย่างเดียวนั้น ก็คือ ปัญญินทรีย์, สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้” (ปุพพารามสูตร, 19/987-990) (ถึงมีอินทรีย์อื่นๆ ถ้าขาดปัญญาเสียเพียงอย่างเดียว ก็ไม่อาจให้บรรลุผลสำเร็จนี้ได้ อีกทั้งอินทรีย์อื่น เมื่อไม่มีปัญญาเป็นแกนก็อาจเสื่อมไปได้)

      “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใดก็ตาม ที่เป็นกุศล อยู่ในภาคกุศล อยู่ในฝ่ายกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีโยนิโสมนสิการเป็นมูลราก ประชุมลงในโยนิโสมนสิการ, โยนิโสมนสิการ เรียกว่า เป็นยอดของธรรมเหล่านั้น” (กุสลสูตร, 19/465)

      “สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอย่างอื่นแม้สักอย่าง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ภิกษุผู้ใช้โยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น” (เสขสูตร, 25/194) (องค์ประกอบภายในที่มีประโยชน์มากที่สุดคือ โยนิโสมนสิการ ส่วนองค์ประกอบภายนอกที่มีประโยชน์มากที่สุดคือ กัลยาณมิตร)

      “การฟังด้วยดี การสอบถามค้นคว้า เป็นอาหารของปัญญา” (อิฏฐสูตร, 24/73)