สังคมมนุษย์อันประกอบด้วยผู้คนมากมาย จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่เบียดเบียนกัน ทั้งยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ถูกที่ควรได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีกฏเกณฑ์ขั้นพื้นฐานสำหรับชี้นำความประพฤติของคนในสังคมให้เหมาะสม ศีลธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ได้แก่ เบญจศีลและเบญจธรรม
เบญจศีล (ศีล 5) คือ เจตนาในการรักษาความประพฤติให้สุจริต ดีงาม ปราศจากโทษ 5 ประการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อความไม่เบียดเบียนกันในสังคม และเป็นรากฐานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเอง
เบญจธรรม (ธรรม 5) คือ ธรรมอันดีงาม 5 ประการ อันทุกคนควรมีไว้ประจำใจ คู่กับศีล 5 เป็นธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาศีล 5 และเพื่อพัฒนาตนเองให้เจริญงอกงามสูงยิ่งๆขึ้นไป
กัลยาณชนควรทราบว่า ศีล 5 นั้นมีเนื้อหาสาระที่เน้นในทางไม่กระทำชั่ว ยังไม่ครอบคลุมถึงการพัฒนาตนเองให้เจริญขึ้นในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างครบถ้วน ดังนั้น เมื่อรักษาศีล 5 แล้ว พึงมีธรรม 5 ด้วย เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามทั้งภายในจิตใจและความประพฤติภายนอก โดยพ่อแม่ผู้ปกครอง อาจอธิบายให้บุตรหลานฟังด้วยภาษาง่ายๆ ว่า “ศีลคือปิดชั่ว ธรรมคือเปิดดี” (สำนวนของ อ.เสถียร โพธินันทะ)
ศีลข้อ 1. ปาณาติปาตา เวรมณี : ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน
ธรรมข้อ 1. เมตตา กรุณา : มีน้ำใจ ช่วยเหลือกัน
รายละเอียดเพิ่มเติม
- เราย่อมรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น จึงไม่ควรเบียดเบียดกัน อนึ่ง ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น ย่อมชื่อว่าทำลายตนเองให้ตกต่ำด้วย ท่านจึงตรัสว่าบัณฑิตผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงมีความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวงอย่างกว้างขวาง โดยไม่จำกัดขอบเขต ทั้งแก่ ตนเอง ญาติมิตรผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นกลางๆ และศัตรู ผู้ที่มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น จิตใจย่อมร่มเย็นเป็นสุข และได้กล่อมเกลาอัธยาศัยของตนให้ดีงามด้วยกุศลธรรม คือ เมตตา กรุณา อยู่เสมอ
- ศีลข้อ 1. ปาณาติปาตา เวรมณี โดยปกติท่านหมายถึง การไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิต ส่วนการเบียดเบียนทำร้ายนั้น แน่นอนว่าก็เป็นสิ่งที่ควรงดเว้นด้วยเพื่อมิให้ศีลต้องมัวหมองไป
ศีลข้อ 2. อทินฺนาทานา เวรมณี : ไม่เป็นขโมย
ธรรมข้อ 2. สัมมาอาชีวะ : ประกอบอาชีพสุจริต ขยันหมั่นเพียร
รายละเอียดเพิ่มเติม
- นอกจากการลักขโมยแล้ว มิจฉาอาชีวะ ยังได้แก่ การโกง การหลอกลวง บีบบังคับขู่เข็ญ การค้าที่ไม่สมควรทำเช่น ค้าอาวุธ ค้ายาพิษ ค้ามนุษย์ ค้าชีวิตสัตว์ (เพื่อนำไปฆ่า) ค้ายาเสพติด รวมไปถึงอาชีพที่ทำลายคุณภาพชีวิตของสังคม เช่น ทำลายสิ่งแวดล้อม
- สัมมาอาชีวะ ไม่ได้หมายถึงการประกอบอาชีพเท่านั้น ยังรวมถึงการดำรงตนอย่างถูกต้องตามสมควรด้วย เช่น เด็กและเยาวชนก็มีสัมมาอาชีวะ คือ การทำหน้าที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นต้น
ศีลข้อ 3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี : เว้นจากการประพฤติผิดเบียดเบียนล่วงละเมิดทางเพศ
ธรรมข้อ 3. กามสังวร : สำรวมในกาม ให้เกียรติเพื่อนต่างเพศ
รายละเอียดเพิ่มเติม
- บริโภคกามแต่ในทางที่เหมาะสม ปราศจากโทษ ผู้มีคู่ครองพึงมีความพอเพียงในคู่ครองของตน
- ความสำรวมในกาม บางครั้งท่านก็ให้ความหมายกว้าง รวมไปถึงการไม่หมกมุ่นในสิ่งเสพบริโภคอื่นๆจนเกินพอดีด้วย เช่น กินใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป เที่ยวเล่นจนเกินเวลา เป็นต้น
ศีลข้อ 4. มุสาวาทา เวรมณี : ไม่พูดโกหก ใส่ร้ายป้ายสี พูดจาไม่สร้างสรรค์
ธรรมข้อ 4. สัจจะ : มีสัจจะ พูดจาสร้างสรรค์
รายละเอียดเพิ่มเติม
- สัจจะ ย่อมสร้างความเชื่อถือ เกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ผู้ไม่มีสัจจะย่อมไร้ความน่าเชื่อถือ
ศีลข้อ 5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี : ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสุรา ยาเสพติด
ธรรมข้อ 5. สติสัมปชัญญะ : มีสติ รู้ว่าสิ่งใดควร ไม่ควร ไม่ประมาท ขวนขวายพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
รายละเอียดเพิ่มเติม
- สุรา ยาเสพติด เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ทำลายสติสัมปชัญญะ เปิดทางให้อกุศลธรรมอื่นๆเกิดขึ้นได้โดยง่าย
- ความมีสติ ไม่ประมาท การขวนขวายพัฒนาตนเอง เป็นทั้งต้นทาง และเป็นทั้งแกนกลาง แห่งกุศลธรรมความดีงามทั้งหลาย