11) ความสำคัญของสัมมาสมาธิในพุทธศาสนา

สัมมาสมาธิ คือ หมายถึง เป็นอย่างไร

บทนำ

          ดังที่หลายท่านได้ทราบมาดีแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถือปัญญาเป็นยอดแห่งธรรม ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นของคล้อยตามปัญญา การปฏิบัติขัดเกลาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดมีจุดมุ่งหมายสูงสุดมาบรรจบที่เดียวกัน คือการทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง

          ในส่วนของสมาธินั้น เมื่อมองตามหลักไตรสิกขา อันเป็นมาตรฐานหลักของการศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นไตรสิกขาลำดับที่ 2 ท่านจัดวางไว้ในตำแหน่งต่อจากศีลและก่อนปัญญา เนื่องจากสมาธิมีความสำคัญในฐานะเป็นฐานของปัญญา เป็นสุขจากความสงบอันเอื้อต่อการเจริญปัญญา ทำให้ปัญญาเจริญได้ดี ความคิดไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย ช่วยให้คิดพิจารณาสิ่งที่ยากประสบผลสำเร็จได้ ทั้งยังมีประโยชน์อื่นๆอันเป็นผลพลอยได้อีกหลายประการ เช่น ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ช่วยให้กามราคะไม่ฟุ้ง (เพราะได้สุขที่เหนือกว่านั้นแล้ว) เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร (เพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) เป็นบาทของอภิญญา เป็นต้น

          เมื่อตามหลักการแล้วสมาธิมีความสำคัญมากเช่นนี้ จึงควรที่จะทำความเข้าใจให้สมาธินั้นเป็น “สัมมาสมาธิ” และเกิดประโยชน์สมดังวัตถุประสงค์ที่ต้องการ อนึ่ง ขอบเขตของบทความนี้จะไม่รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติสมาธิแบบต่างๆ จะนำเสนอเฉพาะประเด็นความสำคัญและประโยชน์ของสมาธิ โดยยกเนื้อหาพระไตรปิฎกขึ้นมาพิจารณาเป็นหลัก

          นอกจากนี้ผู้เขียนเคยพบว่า ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่าน มีความวิตกกังวลในการฝึกสมาธิ กล่าวคือ มีความเห็นว่า ผู้ฝึกสมาธิเมื่อสิ้นชีวิตต้องไปเกิดในอรูปภพเสียโอกาสเจริญธรรม ไม่เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ จึงมีความเห็นในทำนองที่ไม่ปรารถนาจะฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่เอื้อต่อการเจริญขึ้นในกุศลธรรมของตัวผู้ปฏิบัติเอง ขัดแย้งกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ทั้งนี้ แม้ผู้ปฏิบัติแต่ละท่านจะมีความเหมาะสมที่จะฝึกฝนในแนวทางที่ต่างกันตามจริตของตน แต่ความเข้าใจที่ถูกต้องในภาพรวมของการปฏิบัติย่อมเป็นพื้นฐานอันสำคัญและพึงมี ดังพุทธพจน์ในมหาจัตตารีสกสูตรที่ท่านตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นประธานขององค์มรรคทั้งหลาย แต่ทว่าอย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้แท้จริงแล้วมิใช่ว่าจะไม่มีมูลเหตุ ข้อมูลในชั้นพระไตรปิฎกเองก็มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ดังจะได้นำเสนอต่อไป

          ในส่วนของบทนำ เพื่อเป็นการสนับสนุนวัตถุประสงค์ของบทความนี้ ผู้เขียนจะขอยกเนื้อหาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ภิกขุวรรค อันพระบรมศาสดาได้ตรัสโดยยกความสำคัญของสมาธิไว้อย่างโดดเด่น ดังมีพุทธพจน์ตอนหนึ่งตรัสว่า

“ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน”

ขุ.ธ. (จุฬา) 25/372/146-152

เนื้อหา

        ในช่วงแรกจะนำเสนอเนื้อหาเรื่อง สัมมาสมาธิ-มิจฉาสมาธิ ก่อนโดยย่อเพื่อเป็นภาพรวมของการปฏิบัติสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา ต่อมาจะนำเสนอประเด็นเรื่องความสำคัญและประโยชน์ของสมาธิที่ปรากฎในพระไตรปิฎก การใช้สมาธิเป็นฐานในการเจริญวิปัสสนา ส่วนสุดท้ายจะเป็นประเด็นเรื่องฝึกสมาธิแล้วไปเกิดเป็นอรูปพรหม ตามลำดับ

1 ความหมายของ สัมมาสมาธิ-มิจฉาสมาธิ

1.1 สัมมาสมาธิ

สำนวนแบบที่ 1

          “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน?

          “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แลเรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ”

ม.อุ. 14/136/174-183

          ในสำนวนแบบที่ 1 สัมมาสมาธิ หมายถึง ความที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ประกอบพร้อมด้วยมรรคมีองค์ 8 กล่าวคือ สมาธิในระดับฌานขึ้นไปอันประกอบพร้อมด้วยความเห็นที่ถูกต้องนั่นเอง (สัมมาทิฎฐิเป็นประธานของมรรค 8)

สำนวนแบบที่ 2

          “สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่

๓. เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’

๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้วบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

          ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ”

ที.ม. 10/372-405/301-340

          ในสำนวนนี้ ท่านแสดงความหมายของ สัมมาสมาธิ ว่าเป็นสมาธิใน ฌาน 4 (สังเกตได้จากองค์ธรรมในแต่ละประโยค) ซึ่งการแสดงความหมายของสมาธิในสำนวนคล้ายกันนี้ ยังมีพบในปัญจังคิกสูตร อีกแห่งหนึ่งด้วย จะเห็นว่าท่านไม่ได้กล่าวเลยไปถึงสมาธิขั้นอรูปฌาน

สำนวนแบบที่ 3

          “ก็สมาธินทรีย์เป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า สมาธินทรีย์”

สํ.ม. 19/874/264

         ถ้าตีความจากสำนวนนี้ เข้าใจว่า สัมมาสมาธิยังหมายความรวมไปถึงสมาธิอันเกิดจากกำลังของวิปัสสนาด้วย เนื่องจากการยึดหน่วงนิพพานเป็นอารมณ์ย่อมเป็นงานในฝั่งของปัญญาเป็นหลัก อาจเป็นลักษณะของสัมมาสมาธิในผู้ปฏิบัติแนววิปัสสนายาน ซึ่งเมื่อเจริญวิปัสสนาถูกทางแล้วสัมมาสมาธิย่อมเกิดขึ้นเองจากการน้อมดิ่งไปในธรรม องค์มรรคทั้ง 8 ข้อก็สมบูรณ์จนถึงขั้นบรรลุมรรคผลได้ โดยที่ไม่เคยได้ฌานมาก่อน

          ความหมายของสัมมาสมาธิตามสำนวนที่พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้แสดงไว้ เช่น

  • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
    สัมมาสมาธิ : ตั้งจิตมั่นชอบ, จิตมั่นชอบ คือสมาธิที่เจริญตามแนวของ ฌาน ๔ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)
    สัมมาสมาธิ : สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน (พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย, หน้า 815)
  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
    สัมมาสมาธิ : ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔

          อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนสัมมาสมาธิจะมุ่งไปที่สมาธิระดับฌานขึ้นไป แต่ควรเข้าใจว่าเป็นความหมายแบบเต็มรูปแบบ อย่างผ่อนลงมาแม้แต่ขณิกสมาธิหรืออุปจารสมาธิถ้าใช้ถูกทางก็เป็นสัมมาสมาธิโดยนัยว่าเป็นความสงบไม่ฟุ้งซ่านของใจ ซึ่งใช้เป็นฐานของการเจริญวิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลได้ ดังที่เรียกว่าเป็นแนววิปัสสนายานิก (ผู้เขียนนึกถึงชาวบ้านที่ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วบรรลุมรรคผลส่วนใหญ่ก็คงไม่เคยได้ฌาน บางคนอาจไม่เคยฝึกสมาธิเลยก็ได้)

1.2 มิจฉาสมาธิ

          จากหลักฐานในชั้นพระไตรปิฎก ในเบื้องต้นผู้เขียนบทความยังไม่พบคำอธิบาย มิจฉาสมาธิ ที่มีรายละเอียดโดดเด่น พบข้อความที่บรรยายกว้างๆ เช่น

          “มิจฉาสมาธิ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน?

          “ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่ ความตั้งมั่น ความไม่ซัดส่าย ความไม่ฟุ้งซ่าน ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ มิจฉาสมาธิ ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่ามิจฉาสมาธิที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น”

อภิ.สงฺ. 34/384/110-116

          ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ท่านได้ขยายความตอนหนึ่งว่า ชื่อว่ามิจฉาสมาธิ เพราะมีจิตตั้งมั่นอันไม่ประกอบด้วยความเห็นตรงตามความเป็นจริง อนึ่ง จิตอาจแน่วแน่เป็นเอกัคคตาได้แม้ในการกระทำที่เป็นอกุศล จึงจัดเป็นมิจฉาสมาธิ ยกตัวอย่าง เช่น คนที่มีจิตแน่วแน่ขณะเอาศัสตราฟาดฟันลงที่ร่างกายของสัตว์ไม่ให้ผิดพลาด หรือ ในเวลาตั้งใจลักขโมย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า ที่ท่านว่าจิตเป็นเอกัคคตานั้นเป็นความหมายอย่างผ่อนลงมา ไม่ได้หมายถึงสมาธิระดับฌาน และเกิดขึ้นได้ในขณะที่จิตเป็นอกุศลมุ่งแน่วไปที่อารมณ์เดียว อย่างไรก็ตามท่านกล่าวว่า เอกัคคตาในฝ่ายอกุศลเช่นนี้ มีกำลังน้อย อ่อนแอ ไม่เข้มแข็งทนทานเหมือนในฝ่ายกุศล (สงฺคณี.อ. 243)

          ความหมายของมิจฉาสมาธิตามสำนวนที่พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้แสดงไว้

  • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.
    มิจฉาสมาธิ : ตั้งใจผิด ได้แก่ จดจ่อ ปักใจ แน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น
  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
    มิจฉาสมาธิ : ตั้งจิตผิด ได้แก่ภาวนาสะกดใจในทางหาลาภ ในทางให้ร้ายผู้อื่น และในทางนำให้หลง

          กล่าวในสำนวนอย่างง่ายๆว่า มิจฉาสมาธิ หมายถึง การมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในฐานะเป็นฐานของปัญญา หรือมิได้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

 

2 จุดมุ่งหมายหลักของการฝึกสมาธิตามหลักพุทธศาสนา

          การทำหน้าที่เป็นฐานของปัญญา เป็นจุดมุ่งหมายหลักของการฝึกสมาธิตามหลักพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า สมาธิที่ทำหน้าที่เป็นฐานของปัญญา หรือสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญานั้น ตรงตามความหมายของ สัมมาสมาธิอย่างแท้จริง (อย่างเคร่งก็สมาธิระดับฌาน อย่างผ่อนก็สมาธิระดับขณิกและอุปจาร) ซึ่งมีพุทธพจน์ที่ทรงแสดงถึงประเด็นนี้อยู่มากมาย ในที่นี้จะขอยกพระสูตร 2 บทมานำเสนอ

มหาปรินิพพานสูตร

          “… สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐานย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย …”

ที.ม. 10/131-240/77/180

          ในมหาปรินิพพานสูตร พระบรมศาสดาทรงตรัสเนื้อความเดียวกันนี้ ในต่างโอกาสต่างสถานที่ รวมถึง 8 ครั้ง อาทิเช่น ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์, ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทา, โกฏิคาม เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสมาธิ ในฐานะที่เป็น ไตรสิกขาลำดับที่ 2 ถัดจากศีล และก่อนหน้าปัญญา โดยไตรสิกขาแต่ละข้อ ทำหน้าที่เป็นฐานให้แก่สิกขาลำดับถัดไป

กิมัตถิยสูตร

          พระสูตรบทนี้เริ่มต้นด้วยการที่พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าว่า ศีลมีอะไรเป็นผล พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสแสดง ผลของศีลว่า มีความไม่ร้อนใจ (อวิปปฏิสาร) เป็นผล พระอานนท์ก็ถามต่อไปเป็นลำดับว่า ความไม่ร้อนใจมีอะไรเป็นผล ฯลฯ เรื่อยไปดังนี้

          “… ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์
อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์
ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์
ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์
ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์
สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์
สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาและวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาและวิราคะเป็นอานิสงส์
นิพพิทาและวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ …”

องฺ.ทสก. (ไทย) 24/1-2/1-3

          พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นผล เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของสมาธิในฐานะเป็นฐานของปัญญา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูก็จะพบว่าเนื้อหาที่ทรงแสดง ก็มีแก่นสารสาระเดียวกับส่วนหนึ่งของมหาปรินิพพานสูตรที่ยกมาข้างต้นนั่นเอง เพียงแต่มีรายละเอียดมากกว่า กล่าวคือ ทรงแสดงลำดับของการสนับสนุนหรือเกื้อกูลกันของธรรมจากหยาบไปหาละเอียด ตั้งแต่ขั้นศีล อันเป็นฐานของสมาธิ สมาธิเป็นฐานของปัญญา เรื่อยไปจนถึง ปัญญาอันนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ ความหลุดพ้น

สมาธิอย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายหลักของพระพุทธศาสนา

          ความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ลำพังแต่ด้านสมาธิล้วนๆนั้น ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญปัญญาโดยตรง แต่อยู่ในฐานะของการเป็นบาทฐาน หรือเป็นที่มั่น ให้การเจริญปัญญานั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังในสัลเลขสูตร พระพุทธเจ้าตรัสกับพระจุนทะว่า ฌาน 4 อรูปฌาน 4 ยังไม่ใช่ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส แต่เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

สัลเลขสูตร

          “จุนทะ เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

          “ภิกษุนั้น พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย”

ม.มู. (ไทย) 12/81/70-81

          ดังนั้น การที่ครูอาจารย์บางท่านกล่าวเตือนว่าไม่ควรติดอยู่เพียงแต่ในขั้นของสมาธิ โดยไม่ก้าวไปสู่ภาควิปัสสนานั้น ก็มีเหตุผลสมควรอย่างยิ่ง หากแต่ถ้าเป็นการกล่าวในทำนองที่ไม่สนับสนุนการปฏิบัติสมาธินั้นก็ถือว่าเลยเถิดไปมาก

3 ประโยชน์ของสมาธิในด้านอื่นๆ

          นอกจากสัมมาสมาธิ อันมีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นฐานของปัญญาแล้ว สมาธิก็ยังมีคุณประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย บางอย่างก็เข้าถึงได้ไม่ยากนัก แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก ทำให้สำเร็จได้ยากอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าสนใจทราบเพื่อประดับความรู้ และอาจเป็นประโยชน์ได้บ้างตามสมควร

3.1 ประโยชน์ในด้านความสุขอันประณีต

          ความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของสมาธิ ครูอาจารย์บางท่านได้กล่าวแนะนำให้กำหนดไว้เป็นข้อสังเกตสำคัญ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นสมาธินั้น อย่างน้อยในขั้นต้น จะต้องมากับความสุข ไม่จำเป็นต้องถึงอัปปนาสมาธิ (ปฐมฌานขึ้นไป) เพียงขั้นอุปจารสมาธิ ผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสสุขจากสมาธิแล้ว เพราะอุปจารสมาธิมีองค์ธรรมเหมือนปฐมฌาน (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) เพียงแต่อ่อนกำลังและเกิดขึ้นชั่วระยะสั้นๆ

ปัญจกังคสูตร

          พระสูตรบทนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงสุขที่ดีกว่าและประณีตกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ 10 ลำดับ คือ กามสุข ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญ-จัญญายนตฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สัญญาเวทยิตนิโรธ

          “อานนท์ กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ รูป (รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ที่พึงรู้แจ้งทางตา (หู จมูก ลิ้น กาย) ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ฯลฯ กามคุณ ๕ ประการนี้ สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ เราเรียกว่า กามสุข

          “ชนเหล่าใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบอย่างยิ่งนี้’ เราก็ไม่คล้อยตามคำของชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้

          “อานนท์ สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร

          “คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและจากอกุศลธรรมแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างนี้แล …”

สํ.สฬา. 18/267/293-299

          โดยย่อความ ท่านตรัสว่า บุคคลที่ได้เสวยกามสุขแล้วกล่าวว่าเราได้รับสุขอย่างดีเลิศ นั้นยังไม่ควร เพราะมีสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า คือ ปฐมฌาน และมีสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่าปฐมฌานนั้นอีก คือ ทุติยฌาน… สูงขึ้นตามลำดับจนถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ

ปาสาทิกสูตร

          ในสมัยพุทธกาล มีแนวปฏิบัติชนิดสุดโต่งอันเป็นที่นิยมกัน 2 แนวทาง ทางหนึ่งเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นบำเรอตนด้วยกามสุข เพราะเชื่อว่าชีวิตมีแล้วก็ควรตักตวงหากามสุขในปัจจุบันให้เต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นไปในภายภาคหน้า กับอีกทางหนึ่งเรียกว่า อตกิลมถานุโยค คือ การเฝ้าทรมานตนเองให้เดือดร้อน เพราะเชื่อว่าการลงโทษตนเองเช่นนี้ จะชดใช้หนี้กรรมเก่าให้หมดสิ้นไปได้ และบรรลุถึงความสุขอันเป็นนิรันดร์ในภายภาคหน้า

          ในสมัยพุทธกาล แนวปฏิบัติแบบอตกิลมถานุโยค อันเป็นแนวทางของศาสนาเชน มีนิครนนาถบุตรเป็นศาสดา ได้รับความนิยมพอสมควร นักบวชเชนซึ่งเปลือยกาย และทรมานตนเองด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการอดอาหารอย่างรุนแรงจนซูบผอม ร่างกายทรุดโทรม มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย การที่ศาสนาเชนได้รับการยอมรับนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนบางส่วน มีความเห็นผิดในทำนองว่า การจะบรรลุถึงความสุข ด้วยแนวปฏิบัติที่เป็นสุข นั้นเป็นไปไม่ได้ การจะบรรลุถึงความสุข ย่อมต้องปฏิบัติด้วยแนวปฏิบัติที่เป็นทุกข์ ชาวบ้านบางกลุ่มจึงมีความนับถือศรัทธาในเหล่านักบวชชีเปลือย ที่เฝ้าทรมานร่างกายตนเอง

          เมื่อผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเป็นเช่นนี้ สมัยหนึ่งพระพุทธองค์จึงทรงตรัสธรรมีกถาแก่พระจุนทะ ในปาสาทิกสูตร (ที.ปา. 11/183-184/125-158) ความโดยย่อว่า เป็นไปได้ ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก จะกล่าวตู่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาว่ามีความเบิกบานเพราะยึดถือกามสุขัลลิกานุโยคอยู่ ให้ปฏิเสธว่านั่นเป็นธรรมของชาวบ้าน ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ หากแต่พระสงฆ์ในพุทธศาสนามีความเบิกบาน ในฌานสุข อันเป็นสุขที่พึงมี สุขอันประกอบด้วยประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

          กล่าวโดยย่อ ฌาน 4 เป็นความสุขเหนือกว่า กามคุณ เป็นความสุขที่สมควรแก่พระสงฆ์ (แน่นอนว่าควรแก่คฤหัสด้วย) และเป็นไปเพื่อนิพพาน

          นอกจากนี้ พระสูตรบทนี้ยังแสดงให้เห็นถึง แนวทางปฏิบัติอันเป็นสุข เพื่อบรรลุเป้าหมายอันเป็นบรมสุข ที่ตรงข้ามกับศาสนาเชน ที่เชื่อว่า สุขต้องบรรลุถึงด้วยทางปฏิบัติอันเป็นทุกข์ อย่างชัดเจนอีกด้วย

3.2 ประโยชน์ในด้านการล่วงพ้นจากกามราคะ

นิวาปสูตรและปาสราสิสูตร

          ทั้งสองบทพระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของกามคุณ 5 ซึ่งอุปมาเหมือนพรานล่อเนื้อ (นิวาปสูตร) และบ่วงดักสัตว์ (ปาสราสิสูตร) ที่มารวางล่อเหยื่อผู้ประมาทไว้ โดยมีแนววิธีปฏิบัติเหมือนกันคือใช้สมาธิระดับฌานเพื่อเป็นฐานในการเจริญปัญญา ยกพุทธพจน์ส่วนหนึ่งให้พิจารณา ดังนี้

          “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง เป็นอย่างไร?
          “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้ เรากล่าวว่า ภิกษุได้ทำมารให้ตาบอด คือทำลายจักษุของมารให้ไม่เห็นร่องรอยถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม
          “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรากล่าวว่า ภิกษุได้ทำมารให้ตาบอด คือทำลายจักษุของมารให้ไม่เห็นร่องรอยถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม
          (ตรัสแสดงรูปฌานและอรูปฌานระดับต่างๆ)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงเสียแล้ว ได้บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็และเพราะเห็นด้วยปัญญา เธอย่อมมีอาสวะสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรากล่าวว่า ภิกษุได้ทำมารให้ตาบอด คือทำลายจักษุของมารให้ไม่เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม เป็นผู้ข้ามพ้นตัณหาอันข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆในโลกเสียได้”

นิวาปสูตร, ม.มู.  12/261-271/284-294

3.3 ประโยชน์ในด้านส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต

          เนื่องจากสมาธิทำให้กิเลสจำพวกนิวรณ์ (กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา) ที่ปกติมักจะฟุ้งซ่านรบกวนจิตใจให้มัวหมองสงบลง การเจริญสมาธิจึงช่วยให้เกิดความรู้สึก สงบ ผ่อนคลาย เช้มแข็ง มั่งคง ทั้งยังมีความสดใสเบิกบาน จึงกล่าวได้ว่า ส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของผู้ปฏิบัติได้เป็นอย่างดียิ่ง

          ประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของการเจริญสมาธินั้นมีตัวอย่างในพระไตรปิฎกอยู่ไม่น้อย ในที่นี้ยกตัวอย่าง อิจฉานังคละสูตร ที่พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้ภิกษุทั้งหลายเจริญอานาปานสติ ซึ่งเป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ เนื่องจากปฏิบัติได้สะดวก ร่ายกายผ่อนคลายสบายในขณะปฏิบัติ ส่งเสริมสุขภาพ ดังตัวอย่างพระสูตรที่ยกมาความโดยย่อดังนี้

อิจฉานังคละสูตร

          สมัยหนึ่งในช่วงเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขตกรุงอิจฉานังคละ ได้ตรัสว่าจะทรงหลีกเร้นอยู่ผู้เดียวเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นล่วง 3 เดือนผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จออกจากที่หลีกเร้น แล้วรับสั่งให้เรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามว่าทรงอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมใด พึงตอบว่า “ท่านทั้งหลาย โดยมากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่จำพรรษาด้วยอานาปานสติสมาธิ”

          ต่อมาตรัสแสดงวิธีปฏิบัติ อานาปานสติสมาธิ แล้วแสดงอานิสงส์ของการปฏิบัติ ดังนี้

         “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราจักกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก … ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า”

        “ภิกษุทั้งหลาย ความจริง บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงธรรมนั้นใดว่า อริยวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ) บ้าง พรหมวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม) บ้าง ตถาคตวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคต)บ้าง เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง ก็พึงกล่าวถึงอานาปานสติสมาธิว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง

          “ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผลย่อมปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อมีสติ มีสัมปชัญญะ”

สํ.ม. 19/987/469-470

3.4 ประโยชน์ทางอภิญญา

          ผู้เจริญสมาธิได้ถึงขั้นสูงนั้น บางท่านได้อภิญญา คือ สามารถทำให้เกิดฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันเกิดจากอำนาจจิต เช่น การเดินน้ำ ดำดิน เหาะเหิน เป็นต้น ซึ่งมีคำกล่าวว่า ผู้ที่ฝึกสมาธิได้ถึงขั้นฌานนั้นมีน้อยอย่างยิ่ง ในผู้ได้ฌานนั้นผู้ที่ได้อรูปฌานมีน้อยอย่างยิ่ง ในผู้ได้อรูปฌานนั้นผู้ได้อภิญญามีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง อภิญญาจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ใครๆจะคาดหวังที่จะทำให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย

          คัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายวิธีการเจริญอภิญญาอย่างพิสดาร ซึ่งสรุปใจความโดยย่อว่า ให้เจริญสมาบัติทั้ง 8 แต่จำกัดว่าต้องเป็นสมาบัติที่ได้ในกสิณ ครั้นแล้วฝึกสมาบัตินั้นให้คล่องแคล่วโดยทำนองต่างๆเป็นการเตรียมจิตให้พร้อม พอถึงเวลาใช้งานก็เข้าฌานเพียงแค่จตุตถฌาน แล้วน้อมเอาจิตนั้นไปใช้เพื่ออภิญญาตามความต้องการ

          อย่างไรก็ตามอภิญญาเป็นของที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนมาก ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่ายดังกล่าวข้างต้น ประการสำคัญพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่อารยฤทธิ์ อาจเกิดโทษ และไม่ทำให้หลุดพ้น ไม่ใช่สาระของพระพุทธศาสนา เป็นของมีมาก่อนพุทธกาล มิใช่เครื่องแสดงความประเสริฐของบุคคลหรือของพระพุทธศาสนา ดังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือพุทธธรรมว่า

          “ในแง่การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั้น ถ้าการทำฤทธิ์ทำอภิญญาเป็นกระบวนการที่ยาก และกินเวลา อย่างที่บรรยายไว้ในวิสุทธิมัคค์ พระอรหันต์ย่อมนำเอาเวลาและความเพียรนั้นไปใช้ในการสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน เป็นการทำอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (คำสอนให้เห็นจริงนำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์) ที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าดีเลิศประเสริญกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งปวง ดีกว่าจะมาวุ่นวานกับโลกิยอภิญญาที่เสี่ยงต่อโทษ…”

ปังสุโธวกสูตร

          พระสูตรบทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบการฝึกจิตกับการทำทองให้บริสุทธิ์ ซึ่งต้องทำจากหยาบไปหาละเอียด กล่าวคือ เมื่อต้องการทองที่บริสุทธิ์จากเศษแร่ทอง ย่อมต้องเริ่มต้นด้วยการร่อนเศษดิน หิน กรวด ชนิดหยาบ ออกจากแร่ทอง ต่อมาย่อมต้องร่อนกรวดละเอียด ออกจากแร่ทอง ต่อมาย่อมต้องล้างฝุ่นละเอียดออกจากเศษทอง ต่อมายังต่อนำไปหลอมในเบ้า เป่าซ้ำจนได้ที่

          ฉันใดก็ฉันนั้น จิตอันประกอบด้วยกิเลสอย่างหยาบ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป กิเลสอย่างกลาง คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป กิเลสอย่างละเอียด คือ ความนึกคิดถึงชาติ ความนึกคิดถึงชนบท ความนึกคิดที่ประกอบด้วยความไม่ดูหมิ่น ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป เมื่อละได้สิ้นแล้วก็ยังมีธรรมวิตกเหลืออยู่ สมาธินั้นยังไม่สงบ ไม่ประณีต ไม่ได้ความสงบระงับ ยังไม่บรรลุภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ยังมีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่งอยู่

          เนื้อความต่อมา ขอยกพุทธพจน์มานำเสนอ ดังนี้

          “ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยที่จิตตั้งมั่นอยู่ภายใน สงบนิ่งอยู่ มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้นตั้งมั่นอยู่ สมาธินั้นเป็นธรรมสงบ ประณีต ได้ความสงบระงับ ถึงภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง และภิกษุนั้นจะน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ

          “ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ทะลุฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้” เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ”

          ท่านตรัสแสดงความสามารถทางฤทธิ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีสมาธิระดับสูงแล้ว ในตอนท้ายของธรรมีกถา ทรงแสดงความสิ้นอาสวะกิเลส อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ดังนี้

          “ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ”

องฺ.ติก. 20/102/341-344

 

4 ประเด็นฝึกสมาธิขั้นอรูปฌานแล้วไปเกิดเป็นอรูปพรหมไม่สามารถบรรลุธรรม

          ดังได้กล่าวในบทนำ ว่าผู้เขียนบทความเคยได้ยินได้ฟังผู้สนใจศึกษาพุทธศาสนาบางท่าน มีความวิตกกังวลในการฝึกสมาธิ กล่าวคือ มีความเห็นว่า ผู้ฝึกสมาธิเมื่อสิ้นชีวิตต้องไปเกิดในอรูปภพ เสียโอกาสในการฟังธรรม ไม่เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ จึงมีความเห็นในทำนองที่ไม่ปรารถนาจะฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่เอื้อต่อการเจริญขึ้นในกุศลธรรมของตัวผู้ปฏิบัติเอง ขัดแย้งกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และแม้ท่านผู้ปฏิบัติจะสามารถสำเร็จอรูปฌานได้จริงโดยยังไม่บรรลุโลกุตรธรรม คัมภีร์ชั้นอรรถกถาก็ได้กล่าวทางแก้ไว้โดยง่าย

          ขอกล่าวถึงที่มาก่อน ความกังวลนี้แท้จริงแล้วก็มีเหตุผลและหลักฐานในคัมภีร์ที่น่าพิจารณาไม่น้อย

          นาลกสูตร : เนื้อหาแสดงถึงเรื่องราวของ อสิตฤๅษี ผู้เป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและราชตระกูล ได้เข้ามาถวายพระพรเจ้าชายสิทธัตถะพระราชโอรส เมื่อได้เห็นลักษณะของพระราชโอรส ก็กราบแทบพระบาท และทำนายว่าต่อไปพระราชโอรสจะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอสิตฤๅษีก็ร้องให้เนื่องจากตนแก่ชราเกินกว่าจะได้อยู่ฟังพระธรรม ทั้งยังบรรลุอรูปฌาน ซึ่งจะไปเกิดเป็นอรูปพรหมในภพหน้า ซึ่งเป็นภพที่ไม่สามารถฟังธรรมได้ (เข้าใจว่าอรูปภพเป็นภพที่ขาดการติดต่อกับภพอื่นเสพสุขจากความสงบของอรูปฌานอย่างเดียว)

ขุ.สุ. 25/685-729/663-672

          โพธิราชกุมารสูตร : เนื้อหาตอนหนึ่งแสดงถึงช่วงเวลาหลังพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงพิจารณาผู้ที่มีอินทรีย์สูง ควรแก่การไปแสดงธรรมก่อนเป็นลำดับแรก ก็ทรงดำริถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร ผู้สำเร็จอากิญจัญญายตนะ ก็ทรงทราบว่าตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนะภพแล้ว ทรงดำริถึงอุทกดาบส รามบุตร ผู้สำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ทรงทราบว่าตายไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนะภพแล้ว ความตอนหนึ่ง ดังนี้

          “อนึ่ง อาตมภาพก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’ จึงดำริว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’”

ม.ม. 13/324-346/392-420

          คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึงมีความเสื่อมมากเพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะเกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบส ตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุทกดาบสตายไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ

          เมื่อได้นำเสนอหลักฐานจากพระไตรปิฎกแล้ว ผู้เขียนบทความขอเรียบเรียงและนำเสนอข้อสรุปในประเด็นนี้ ดังนี้

  1. มีพุทธพจน์อยู่มากมายที่ พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้พุทธศาสนิกชนเจริญสมาธิ และทรงแสดงอานิสงส์ของการเจริญสมาธิมากมาย (เช่น ขุ.ธ. 25/372/146-152, ที.ม. 10/131-240/77/180, องฺ.ทสก. 24/1-2/1-3, ม.มู. 12/81/70-81, สํ.สฬา. 18/267/293-299, ที.ปา. 11/183-184/125-158, สํ.ม. 19/987/469-470, องฺ.ติก. 20/102/341-344 เป็นต้น) ไม่ปรากฏว่าท่านเตือนว่าจะทำให้ไปเกิดในอรูปภพเสียโอกาสฟังธรรม ยกเว้นบุคคลนอกพุทธศาสนาผู้ฝึกสมาธิอย่างเดียวไม่เจริญปัญญาแล้วได้อรูปฌาน ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่สัมมาสมาธิมาแต่แรกแล้ว เพราะไม่ประกอบด้วยองค์มรรคอีก 7 ข้อ โดยเฉพาะสัมมาทิฏฐิ อย่างไรก็ตามสมาธิในฐานะเป็นฐานของปัญญานั้น อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเจริญสมาธิถึงขั้นอรูปฌานก็ได้
  2. ความเป็นผู้มีสมาธิดี เอื้อต่อการเจริญปัญญาอย่างยิ่ง ดังศัพท์คำว่า “ฌานสุข” นั้น บางครั้งท่านใช้คำว่า “เนกขัมมสุข” แปลว่า สุขที่เอื้อต่อการบรรลุนิพพาน จึงมีพุทธพจน์มากมายที่ตรัสแสดงการบรรลุธรรมในลักษณะที่สอดคล้องไปกับการเจริญฌานสมาบัติ มีชื่อเรียกว่าการปฏิบัติแนวสมถยาน คือเจริญฌานก่อนแล้วค่อยเจริญปัญญา และถ้าบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ย่อมไม่ไปเกิดในอรูปภพเองตามธรรมดา
  3. ถ้าได้สมาธิถึงขั้นอรูปฌาน แต่ไม่บรรลุธรรม อรรถกถาจารย์กล่าวว่าเพียงน้อมจิตไปยังรูปภพก็แก้ปัญหาได้ ข้อความดังนี้ “…อสิตฤษีนี้พึงน้อมจิตไปในรูปภพ ก็จะไม่เกิดเดือดร้อนอะไรถึงกับร้องไห้อย่างนั้น. แต่เกิดเดือดร้อน เพราะความไม่ฉลาดไม่รู้จักวิธี” (อรรถกถานาลกสูตร) ผู้ที่สามารถไปอุบัติในภพสูงแต่ปรารถนาภพต่ำกว่า ถ้ามีความน้อมใจไปในภพต่ำกว่า ผู้นั้นก็สามารถไปอุบัติในภพที่ตนต้องการได้ตามปรารถนา

บรรณานุกรม

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 10, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 11, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 12, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 14, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 18, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 19, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 20, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 25, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย     เล่ม 34, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559

มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, อรรถกถาฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง, วิสุทธิมรรค. พิมพ์ครั้งที่ 10, บริษัท ธนา  เพรส จำกัด, 2555

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย), พิมพ์ครั้งที่ 42, ไม่ระบุสถานที่    พิมพ์, 2558

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ 19,     โรงพิมพ์พระพุทธศาสนาของธรรมสภา, 2556

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สารานุกรมพระพุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2539