16) ข้อจำกัดของภาษาและการทำความเข้าใจปรมัตถธรรม

บทนำ

      ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า ภาษานั้น ถ้ามองว่าเป็นเครื่องมือในการสื่อสารอย่างหนึ่งแล้ว ก็เป็นเครื่องมือที่มีข้อจำกัดอยู่ในตัว ภาษาไม่สามารถส่องแสดงสิ่งที่ต้องการไปสู่ผู้รับได้อย่างสมบูรณ์แบบ มันเป็นเพียงสื่อกลางที่ถูกสมมติขึ้นเพื่อให้มนุษย์ในสังคมหนึ่งๆเกิดประโยชน์ในด้านการสื่อสารเท่านั้น เมื่อธรรมชาติของภาษามีข้อจำกัดเช่นนี้ อีกทั้งกาลเวลาและยุคสมัยก็ได้ล่วงผ่านไปเนิ่นนาน การที่ผู้รับสารในปัจจุบัน จะทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้ส่งสารในอดีตต้องการจะสื่อ ก็มิใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าข้อมูลข่าวสารหรือองค์ความรู้ที่สืบทอดมานั้น มีความลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่น พระธรรมแห่งพระพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นโลกุตรธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันประเสริฐสุด เป็นส่วนยอดสูงสุดและก็เป็นส่วนที่เข้าใจยากที่สุดเช่นกัน

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ดังนี้

     1. เพื่ออธิบายให้เห็นข้อจำกัดของภาษาตามความเป็นจริง
     2. เพื่อสนับสนุนให้เห็นว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นการดี ที่ทั้งปริยัติและปฏิบัติดำเนินควบคู่กันไปอย่างสมดุลทั้งสองด้าน
     3. การใช้สำนวนภาษาและความเข้าใจเรื่อง สุข-ทุกข์

     ในช่วงแรก จะขอยกตัวอย่างพระสูตร 2 บท ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึง ความสุขจากกามคุณ 5 เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นข้อจำกัดของภาษา ดังนี้

     “ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นคุณแห่งกามทั้งหลาย คือ กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู … ๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก … ๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น … ๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

      กามคุณมี ๕ ประการนี้แล การที่สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการ นี้ชื่อว่าเป็นคุณแห่งกามทั้งหลาย”

มหาทุกขักขันธสูตร (12/166/165-176)

      “มาคัณฑิยะ กามทั้งหลายก็อย่างนั้นเหมือนกัน แม้ในอดีตก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความร้อนมาก และมีความเร่าร้อนมาก ในอนาคต กามทั้งหลายก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความร้อนมาก และมีความเร่าร้อนมาก แม้ในปัจจุบัน กามทั้งหลายก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความร้อนมาก และมีความเร่าร้อนมาก สัตว์เหล่านี้เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกกามตัณหาเกาะกินอยู่ ถูกความเร่าร้อนที่เกิดเพราะกามแผดเผาอยู่ มีอินทรีย์ถูกกามกำจัดแล้ว กลับเข้าใจกามซึ่งมีสัมผัสเป็นทุกข์ว่าเป็นความสุขไป”

มาคัณฑิยะสูตร (13/214/245-259)
(บทความนี้จะอ้างอิงที่มาจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ)

     จะเห็นว่าบทแรกท่านตรัสว่า สุข โสมนัส เป็นคุณของกาม ส่วนบทที่สองท่านตรัสว่า กามทั้งหลายมีสัมผัสเป็นทุกข์ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่สัตว์เข้าใจผิดไปว่าเป็นสุข พระสูตรทั้งสองบทนี้ ถ้าตีความตามตัวอักษรก็จะคล้ายกับว่ามีเนื้อหาขัดแย้งกันเอง บทหนึ่งกามเป็นสุข อีกบทหนึ่งกามเป็นทุกข์แต่เข้าใจผิดว่าสุข จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำความเข้าใจให้กระจ่าง ซึ่งในประเด็นนี้จะได้กล่าวถึงอีกครั้ง ในที่นี้เพียงยกมาเป็นตัวอย่างให้เห็นข้อจำกัดของภาษาก่อน

  1. ธรรมชาติของภาษา

     สาเหตุของปัญหาในลักษณะนี้ นอกจากเหตุเพราะความลึกซึ้งของธรรมแล้ว ยังเกิดจากภาษาซึ่งมีข้อจำกัดอยู่ในตัวของมันเอง เนื่องจากภาษาเป็นเพียงสื่อกลางในการแสดงความหมายของสิ่งต่างๆ ภาษาไม่สามารถถ่ายทอดความหมายของสิ่งนั้นได้สมบูรณ์แบบเสมอไปในทุกกรณี ข้อความเดียวกันส่งไปถึงผู้รับหลายคน ต่างคนก็ต่างตีความทำความเข้าใจไปตามความเห็นของตน ซึ่งผู้รับแต่ละคนอาจเข้าใจไม่ตรงกัน และบางครั้งอาจไม่ตรงตามความหมายที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อออกไป

     นอกจากนี้ในการแสดงเรื่องที่มีสาระอย่างเดียวกัน แต่แสดงต่างโอกาส กับผู้ฟังที่มีจริตต่างกัน เพื่อหวังประโยชน์ของบุคคลผู้นั้นหรือหมู่คณะนั้น ท่านย่อมทรงแสดงด้วยสำนวนที่เหมาะกับผู้ฟัง ณ ที่นั้นเป็นหลัก ทำให้เราจะพบได้ว่าบางครั้งในคัมภีร์ที่แสดงเนื้อหาสาระในเรื่องเดียวกัน แต่มีสำนวนแตกต่างกันไปได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น การแสดงความหมายของนิพพาน จะเห็นว่าท่านได้ทรงแสดงไว้หลากหลายสำนวนอย่างยิ่ง คำที่เป็นไวพจน์ของนิพพาน ก็มีมากมายหลายสิบคำเพื่อใช้แสดงคุณภาพในแง่ด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น นิโรธ อสังขตะ อมตธาตุ วิโมกข์ วิราคะ อาโรคยะ วิสุทธิ วิวัฏฏ์ (ดูหนังสือพุทธธรรม บทที่ 6 หัวข้อ ภาวะแห่งนิพพาน) ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า ถ้าภาษาเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้โดยสมบูรณ์แล้ว จะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้หลากหลายสำนวน เพื่อให้เหมาะกับจริตของผู้ฟังแต่ละกลุ่มเลย และยิ่งสิ่งที่ต้องการสื่อสารนั้นลึกซึ้งมากเพียงใด ปัญหาด้านข้อจำกัดของภาษาก็จะยิ่งเด่นชัดขึ้นเพียงนั้น ทั้งนี้ ยังมิได้กล่าวถึงอุปสรรคด้านสำนวนภาษาของแต่ละชนชาติและแต่ละยุคสมัยที่ล่วงผ่านไปอีกด้วย

     ดังที่นักปราชญ์บางท่านยกตัวอย่าง เต่าบรรยายสภาพแวดล้อมบนบกให้ปลาฟัง ปลาก็ยากจะเข้าใจและเห็นภาพตรงตามสิ่งที่เต่าต้องการจะสื่อ เพราะภาษาไม่ได้แสดงประสบการณ์โดยตรงแก่ผู้รับ ภาษาเป็นเพียงสื่อกลางที่ผู้ส่งสื่อสารกับผู้รับด้วยถ้อยคำที่สมมติขึ้นมาเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การจะอธิบายสิ่งที่อยู่นอกเหนือกว่าประสบการณ์ของผู้ฟัง ให้รู้เห็นตาม จึงมิใช่เรื่องง่าย

     ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมอย่างง่ายๆเพื่อแสดงข้อจำกัดของภาษา ท่านผู้อ่านอาจลองจินตนาการว่า มีเพื่อนชาวต่างชาติที่ไม่เคยรู้จักผลไม้ที่ชื่อทุเรียนมาก่อนเลย ท่านจะอธิบายด้วยคำพูดให้เขารู้จักผลไม้ที่ชื่อทุเรียนอย่างไร อาจกล่าวว่าเปลือกมีลักษณะเช่นนี้ เนื้อมีลักษณะเช่นนี้ รับประทานแล้วรสชาติและกลิ่นเป็นเช่นนี้ จะเห็นว่าคงจะสื่อสารกันได้ไม่ง่ายนักและมีความเข้าใจกันเพียงบางส่วน ลักษณะของทุเรียนในจินตนาการของเพื่อนชาวต่างชาตินั้น อาจใกล้เคียงความเป็นจริงสัก 50% หรือถึง 80-90% ถ้าผู้อธิบายมีทักษะการสื่อสารดี แต่ก็ไม่สามารถสมบูรณ์แบบตรงตามความเป็นจริงทั้ง 100% แม้ว่าสิ่งที่ต้องการอธิบายนั้นยังเป็นเพียงสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ชัดเจนเช่นนี้ ดังนั้น เรื่องที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าตาเห็น พ้นจากประสบการณ์ของผู้ฟัง จึงเป็นธรรมดาที่จะอธิบายด้วยภาษาได้ยากลำบากอย่างยิ่ง

     สุภาษิตของนิกายเซนบทหนึ่งจึงกล่าวว่า “ภาษาเปรียบเสมือนนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์” ในบางครั้งการอธิบายสิ่งที่ยาก ถ้าผู้ฟังติดอยู่แต่เพียงในสำนวนภาษา ไม่สามารถเข้าถึงสาระที่ผู้อธิบายต้องการแสดง ก็เปรียบเสมือนการมองติดอยู่เพียงแค่ที่นิ้ว ไม่สามารถมองเห็นถึงดวงจันทร์ (คือ สาระที่มุ่งหมาย) ที่ผู้แสดงต้องการจะชี้ให้เห็นได้

2. ความเกื้อหนุนกันของปริยัติและปฏิบัติ

     แม้กระนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นสารถีฝึกบุคคลที่ฝึกได้ ผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครยิ่งไปกว่า ก็ได้ทรงแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ตรัสสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งโดยทำให้ง่าย ทำให้เหมาะแก่จริตของผู้ฟังแต่ละบุคคล แต่ละหมู่คณะเป็นอย่างดีแล้ว หากแต่ในท้ายที่สุด ผู้ศึกษาก็จำเป็นต้องมีส่วนในการขวนขวายด้วยความเพียรและสติปัญญาของตนเพื่อก้าวข้ามไปเอง

     ดังปรากฏในบทธรรมคุณ 6

     ข้อ 2) สนฺทิฏฺฐิโก : อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง คือ ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดบรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเองไม่ต้องเชื่อตามคำของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุ ผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้

     ข้อ 6) ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ : อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน คือ เป็นวิสัยของวิญญชนจะพึงรู้ได้ เป็นของจำเพาะตน ต้องทำจึงเสวยได้เฉพาะตัว ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

     ด้วยเหตุนี้ โดยส่วนมาก ท่านจึงสนับสนุนให้ผู้ศึกษาฝึกหัดพัฒนาทั้งด้าน ปริยัติและปฏิบัติ คือทั้งด้านเล่าเรียนพระคัมภีร์ต่างๆและการลงมือทำจริง ควบคู่กันไปอย่างสมดุล เพื่อให้ทั้งวิชาความรู้และประสบการณ์ตรงที่ได้จากการปฏิบัตินั้นเกื้อหนุนกัน การมุ่งไปที่ด้านการเล่าเรียนคัมภีร์โดยละเลยการปฏิบัติ บางครั้งก็ยากจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจแก่นแท้ของสิ่งที่คัมภีร์ต้องการจะแสดงเพราะขาดประสบการณ์เชิงประจักษ์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การมุ่งไปที่ด้านการปฏิบัติโดยละเลยการเรียนรู้ทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานแห่งพระพุทธศาสนาให้เข้าใจดีเสียก่อน ก็มีความเสี่ยงที่ผู้ปฏิบัติจะมีความเห็นผิดพลาด เฉไฉออกไปนอกทางได้

     ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ผู้ที่ศึกษาด้วยการอ่านตำราเป็นหลัก โดยไม่ฝึกปฏิบัติเลย จะไม่สามารถก้าวหน้าไปได้ไกล

     ด้วยเหตุเพราะอินทรีย์ทั้งหลายมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง ดังทรงแสดงในมูลกสูตร (23/83/407-408) ส่วนใน ปุพพารามสูตรที่ ๑ ก็มีเนื้อความว่า อินทรีย์อื่น คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ เป็นของคล้อยตามปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้วอินทรีย์อื่นย่อมตั้งมั่น (19/515/327-328) ผู้ที่หนักไปในทางเล่าเรียนจากตำราเป็นหลักถ้ามาถูกทางแล้ว การใช้สติปัญญาคิดพิจารณาไตร่ตรองเนื้อหาจากการอ่านก็เทียบได้กับการปฺฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั่นเอง

     อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอินทรีย์อื่นควบคู่ไปกับการพัฒนาปัญญานั้นเป็นแนวทางหลัก ดังที่ปรากฏโดยทั่วไปว่า ศีลเป็นฐานของสมาธิ สมาธิเป็นฐานของปัญญา ตัวอย่างเช่น ในมหาปรินิพพานสูตร (10/131-240/77/180) พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสเนื้อความเดียวกันในต่างโอกาสต่างสถานที่ รวมถึง 8 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าเป็นหลักการอันสำคัญยิ่ง โดยมีความตอนหนึ่ง ดังนี้

     “… สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐานย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย …”

     อนึ่ง ผู้เขียนจะลองยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพในเบื้องต้นสักแง่ด้านหนึ่ง ว่าสมาธิเป็นฐานของปัญญาอย่างไร โดยใช้วิธีพิจารณาจากพระสูตรชื่อว่า สุขวรรค (25/202-203/94-97) ซึ่งมีเนื้อความที่ค่อนข้างคุ้นหู ดังนี้

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี
สุข(อื่น)ยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

“ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
บัณฑิตรู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริงแล้ว
ย่อมทำนิพพานให้แจ้งเพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

     ข้อความ “สุข(อื่น)ยิ่งกว่าความสงบไม่มี” ถ้าพินิจพิจารณาจากเนื้อความเพียงอย่างเดียว อาจมีความกังขาเกิดขึ้นได้ว่า ความสงบนั้นเป็นสุดยอดแห่งความสุข ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่าแล้วจริงๆหรือ? โดยผู้พิจารณาอาจยกความสุขต่างๆ ตามแต่ประสบการณ์และความพึงพอใจส่วนตัวขึ้นมาเทียบ แล้วรู้สึกว่า สุขอย่างนั้นก็ดี สุขอย่างนี้ก็เยี่ยม ยากจะปลงใจเชื่อว่าความสงบนั้นเป็นสุดยอดแห่งความสุข

     ต่อมาเนื้อความในช่วงท้ายที่ยกมา “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ก็เช่นเดียวกัน หากใช้เพียงการตีความตามตัวอักษรแล้วนึกคิดพิจารณาจากประสบการณ์เดิม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้เกิดความกระจ่างหรือยอมรับได้อย่างสนิทใจ ทั้งนี้ การทำความเข้าใจความเป็นบรมสุขแห่งนิพพานอาจจะเป็นประเด็นที่ยากที่สุดประเด็นหนึ่งในการศึกษาพระพุทธศาสนาก็ว่าได้

     จุดนี้เองที่เราอาจเห็นประโยชน์ของสมาธิในฐานะเป็นฐานของปัญญาได้ชัด (ในแง่มุมหนึ่ง) กล่าวคือ ในผู้ที่เคยมีประสบการณ์ด้านสมาธิมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับฌาน ผู้เขียนเชื่อว่าจะเข้าใจเนื้อความในส่วนนี้ได้ง่ายกว่ามาก เพราะความสุขจากสมาธิในระดับฌานนั้นเป็นความสุขที่มีบรรยากาศแห่งความสงบใกล้เคียงหรือเทียบคล้ายได้กับนิพพาน ดังพุทธพจน์

     “แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แลอันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข … การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน 4” (ปาสาทิกสูตร, 11/114-115/106-131)

     “ผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสันทิฏฐิกนิพพานโดยปริยายแล้ว (สันทิฏฐิกนิพพาน ฉบับหลวงใช้สำนวน นิพพานอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง)” (สันทิฏฐิกสูตร, 23/47/540)

     “…ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน” (สัมพหุลภิกขุวัตถุ, 25/372/146-152)

     เนื้อหาที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนนี้ คงพอจะแสดงให้เห็นได้บ้างว่า สมาธิมีส่วนช่วยเปิดโลกทัศน์ให้การเจริญขึ้นของปัญญาเป็นไปได้ง่ายขึ้น ถ้าเพียงแต่ผู้ศึกษาสามารถเจริญสมาธิในระดับฌานให้เกิดขึ้น ก็จะได้สัมผัสโดยตรงกับภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิ (ที่ท่านใช้คำว่า สันทิฏฐิกนิพพาน ตทังคนิพพาน หรือ วิขัมภนวิมุตติ) เมื่อได้สัมผัสเองแล้ว ในส่วนนี้ก็ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องคาดเดา หรือจินตนาการวาดภาพขึ้นมาลอยๆ ว่าภาวะนั้นจะดีงามล้ำเลิศเพียงใด (เข้าใจว่าสมาธิเพียงขั้นอุปจารสมาธิก็ยังช่วยได้มากเพราะองค์ธรรมเหมือนปฐมฌานเพียงแต่อ่อนกำลังกว่าและเกิดขึ้นชั่วระยะเวลาสั้นๆ)

     ภาวะแห่งความสุขสงบอย่างยิ่งยวดอันเกิดจากสมาธินี้ แม้จะไม่ใช่นิพพานเป็นเพียงสิ่งเทียบคล้าย แต่ก็จะเป็นข้อมูลชั้นดีให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อที่จะเข้าใจเนื้อความที่ท่านตรัสว่า “สุข(อื่น)ยิ่งกว่าความสงบไม่มี” และ “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

3. การใช้สำนวนภาษาและความเข้าใจเรื่อง สุข-ทุกข์

     ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นตัวอย่างบางส่วนเกี่ยวกับการใช้สำนวนภาษาที่ต่างกันในแต่ละโอกาสของการแสดงธรรม ผู้เขียนจะขอมุ่งไปที่ประเด็นเดียว คือ เรื่องสำนวนภาษาในการอธิบายความสุขและความทุกข์ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ทั้งมีความสำคัญอย่างมากโดยสาระ และยังเป็นประเด็นที่พบเห็นความคลุมเครือในการทำความเข้าใจอยู่ระดับหนึ่ง ยกพระสูตรมาให้พิจารณาดังนี้

     “เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นสังขารบางอย่างโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยอนุโลมขันติจักหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล

     เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ จักหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งโสดาปัตติผลสกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล” (วิปัสสนากถา, 31/36-39)

     พุทธพจน์บทนี้ ถ้าตีความโดยตรงตามตัวอักษร อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้าย เนื่องจากมีเนื้อความว่า ถ้ายังเห็นสังขารแม้เพียงบางอย่างโดยความเป็นสุข ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุธรรม แต่ถ้าเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นทุกข์ ก็เป็นไปได้ที่จะบรรลุธรรม (เห็นโดยความเที่ยง/ไม่เที่ยง อัตตา/อนัตตา ก็สำนวนเดียวกัน)

     ในวิปัลลาสสูตร (21/49/79-81) ซึ่งได้ถูกนำมาเรียบเรียงเป็นหมวดธรรมชื่อ วิปลาส 4 มีเนื้อหาส่วนที่อธิบายว่า ถ้ายังเห็นสังขารใดๆเป็นสุข ยังชื่อว่ามีทิฏฐิวิปลาส ยังมีความเห็นผิดอยู่

     สุขวรรค (25/202-203/94-97) ที่ได้ยกมาอ้างแล้วข้างต้น ก็มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” และ “สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง”

     นอกจากนี้ในพระสูตรบทอื่นที่มีเนื้อหาแสดงถึงความที่สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ยังมีอีกหลายบท เช่น วชิราสูตร (15/171/227-228, อุปปาทสูตร (สํ.ข. 17/30-31/43-44) เป็นต้น

     ก่อนจะกล่าวแก้ข้อสงสัยที่อาจเกิดขึ้นว่า สิ่งที่เป็นสุขในโลกก็มีอยู่มากมิใช่หรือ เหตุใดจึงตรัสเหมือนกับว่ามีแต่ทุกข์ไปทั้งหมด? ขอยกพระสูตรบทที่มีเนื้อความที่ทรงแสดงว่ามีสังขารบางอย่างเป็นสุข ซึ่งพระสูตรที่มีเนื้อความในลักษณะนี้มีอยู่มากมาย มานำเสนอไว้ด้วย ดังนี้

     “กามคุณมี ๕ ประการนี้แล การที่สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการ นี้ชื่อว่าเป็นคุณแห่งกามทั้งหลาย” (มหาทุกขักขันธสูตร, 12/166/165-176)

     “มหาลิ หากรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นี้จักได้เป็นทุกข์ส่วนเดียว มีแต่ทุกข์ติดตาม หยั่งลงสู่ความทุกข์ ไม่หยั่งลงสู่ความสุขบ้างแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงติดใจในรูป แต่เพราะรูปเป็นสุข มีสุขติดตาม หยั่งลงสู่ความสุข ไม่หยั่งลงสู่ความทุกข์เสมอไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงติดใจในรูป เพราะกำหนัดจึงถูกรูปผูกไว้ เพราะถูกรูปผูกไว้จึงเศร้าหมอง นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัยจึงเศร้าหมองอย่างนี้” (มหาลิสูตร, 17/60/97-99)

     “บุญเป็นชื่อของความสุข” (ปุญญวิปากสูตร, 23/62/120-121)

     “… ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยากลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ (สุขจากการบวช) ปวิเวกสุข (สุขจากความสงัดจากกิเลส) อุปสมสุข (สุขในผลสมาบัติ) และสัมโพธิสุข (สุขในอริยมรรค) ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยากลำบาก ผู้นั้นชื่อว่าพึงยินดีสุขอันไม่สะอาด สุขในการหลับนอน สุขที่อาศัยลาภสักการะและการสรรเสริญ …” (ยสสูตร, 23/86/411-415)

     “กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร, 25/12-13/190-192)

     เนื้อความที่เกี่ยวกับความสุขยังมีอีกมาก เช่น การจัดลำดับความสุขออกเป็น 10 ขั้น ในพหุเวทนียสูตร (13/88-91/90-95) และที่อื่นๆ, การจัดความสุขออกเป็นคู่ๆในสุขวรรค (20/65-78/102-105, 2/66-79/60-62), ท่าที่ที่ควรปฏิบัติต่อความสุขใน เทวทหสูตร (14/1-20/1-28) เป็นต้น

     จะเห็นว่าในประเด็นเรื่อง สุข-ทุกข์ ถ้าตีความแบบตรงตามตัวอักษร มีความเป็นไปได้ที่จะรู้สึกว่าเนื้อความคล้ายๆจะขัดกันเอง อันเป็นสิ่งที่เกิดจากข้อจำกัดของภาษาดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น เมื่อทราบว่าภาษามีข้อจำกัดโดยตัวของมันเองเช่นนี้ ผู้ศึกษาจึงไม่ควรประมาทในด้านภาษา การพิจารณาโดยรอบคอบและทดลองปฏิบัติด้วยตนเองด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมเป็นการดี (ดูบท สัจจะ 2 ระดับ)

     สำหรับการอธิบายประเด็นเรื่องการใช้ภาษาเกี่ยวกับ สุข-ทุกข์ เพื่อแก้ไขความคลุมเครือให้กระจ่างขึ้นบางส่วน ผู้เขียนมีความเข้าใจว่า ประเด็นนี้ใกล้เคียงกับการอธิบายการใช้ภาษาเกี่ยวกับ อัตตา-อนัตตา

     พิจารณาโดยอ้างอิงถึงหลักไตรลักษณ์ ความเที่ยง ความสุข ความเป็นอัตตา ย่อมไม่มีอยู่จริงโดยสภาวะ แต่สามารถมีอยู่ได้โดยความหมายรู้ทั่วไป หรือโดยภาษาพูดทั่วไป กล่าวคือ ขึ้นอยู่กับว่าจะมองในระดับความหมายรู้ทั่วไป หรือมองลึกในระดับสภาวะแท้จริง สภาวะของอัตตาไม่มีอยู่จริงอย่างไร สภาวะของความสุขก็ไม่มีอยู่จริงอย่างนั้น

     ทั้งนี้ เพื่อมิให้ตกไปในทางมองโลกในแง่ร้ายขึ้นมาจริงๆเสียเอง จำเป็นจะต้องย้ำว่า ความสุขไม่มีอยู่จริงโดยสภาวะไม่ได้หมายถึง ความสุขไม่มีอยู่จริงโดยสิ้นเชิง ความสุขมีอยู่จริงอย่างชัดเจนเหมือนที่ข้าพเจ้าและท่านทั้งหลายรู้สึกเมื่อได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้เสพเสวยสิ่งที่น่าพึงพอใจทั้งหลาย ได้ดื่มด่ำกับความสุขสงบจากสมาธิ เป็นต้น

     แต่ความสุขมีอยู่จริงเฉพาะในขั้นของความหมายรู้ทั่วๆไป และในภาษาพูด แต่ไม่มีอยู่จริงในขั้นของสภาวะ ตามสภาวะแท้จริงมีแต่ระดับขั้นของความทุกข์ ความสุขคือสภาวะที่มีความทุกข์น้อย (คล้ายกับที่อัตตา ไม่มีอยู่จริงในขั้นสภาวะ) จะกล่าวว่า สภาวะสุขไม่มีอยู่จริง แต่ความรู้สึกสุขมีอยู่จริง ก็ได้

     กล่าวคือ ในด้านสำนวนภาษาประเด็น สุข-ทุกข์ เมื่อเนื้อความแสดงความหมายในลักษณะที่ว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เป็นลักษณะการใช้สำนวนภาษาที่มุ่งแสดงตัวสภาวะตามความเป็นจริง ไม่ได้มุ่งถึงความรู้สึกโดยทั่วๆไป “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ไม่ได้มุ่งหมายว่า ขันธ์ 5 หรือ สังขารทั้งหลายเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัสแต่มุ่งแสดงถึง ความเป็นสภาวะทุกข์ตามธรรมดาของมันอย่างนั้น (ทุกข์เพราะถูกบีบคั้นด้วยอนิจจัง คือ ความเกิดดับแปรปรวน) รวมถึงเป็นการชี้ว่าความพ้นไป หรือความสงบไปของสิ่งเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นบรมสุข

     การอธิบายในลักษณะนี้ อาจเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาร่วมกับพุทธพจน์ที่มีเนื้อความอธิบายว่า สุขเวทนานั้นเป็นทุกข์เพราะอะไร ผู้สนใจดู รโหคตสูตร (18/259/284-286), สุขสูตร (18/250/270-271), ทุติยเวทนาสูตร (25/53/406/407), เวทนาปริคหสูตร (ทีฆนขสูตร) (13/201-206/239-244) เป็นต้น) ในที่นี้ยกความตอนหนึ่งในรโหคตสูตร ดังนี้

     “คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง (สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา) นั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลไม่เที่ยง … มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา … มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา … มีความแตกไปเป็นธรรมดา … มีความดับไปเป็นธรรมดา … มีความแปรผันเป็นธรรมดา”

     ได้กล่าวมาแล้วว่า การพิจารณาโลกุตรธรรมเช่นนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถใช้ประสบการณ์ด้านสมาธิเข้ามาช่วยเสริมนอกเหนือไปจากการใช้ปัญญาล้วนๆจะช่วยให้เข้าถึงความหมายที่ท่านต้องการแสดงได้ง่ายขึ้น เนื่องด้วยภาวะแห่งความสุขสงบอย่างยิ่งยวดอันเกิดจากจิตที่แล่นไปในอารมณ์กรรมฐานล้วนๆนั้น ชี้ให้เห็นว่า ความสงบของสังขารนั่นเองเป็นความสุข เพราะโดยสภาวะสังขารนั้นเป็นความบีบคั้นตามธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว แต่เราเคยชินไปตามความรู้สึกว่า มันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง นอกจากนี้ ยังส่องแสดงไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือ ความหลุดพ้น ว่าประเสริฐสุดอย่างไรอีกด้วย ข้อนี้เป็นการดีถ้าพึงทราบด้วยการปฏิบัติส่วนตน

     เมื่อความสุขไม่มีอยู่จริงในขั้นสภาวะ ความสุขทั้งหมดย่อมสามารถอธิบายกลไกการเกิดขึ้นด้วยนัยยะแห่งความสงบลงของทุกข์ได้ ในที่นี้จะยกตัวอย่างการอธิบายกลไกการเกิดขึ้นของความสุขจากกามคุณ (ความเห็นส่วนตัวโปรดใช้วิจารณญาณ) ดังนี้

กลไกของการเกิดความสุขจากกามคุณ : เกิดจาก 2 ส่วน

  • ความสงบกิเลสในสิ่งนั้นลงชั่วคราว
    เมื่อได้เสพแล้ว ความหงุดหงิด กลัดกลุ้ม ฟุ้งซ่าน ความทุกข์อันเกิดจากการไม่ได้สมอยากก็สงบลง ยิ่งตัณหาในสิ่งนั้นแรงมากโทสะที่แฝงมาก็มาก เมื่อได้มาเสพแล้วก็ยิ่งปลดเปลื้องความทุกข์ออกไปได้มาก
  • ดึงดูดใจให้เกิดความเพลินจนลืมทุกข์อื่น (ความสงบทุกข์อื่น)
    กามารมณ์อันวิจิตร คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ชื่อว่าน่าปรารถนาเพราะเหมาะกับประสาทสัมผัสทางกายของสัตว์นั้นๆ มนุษย์ต่างคนก็ต่างยินดีในอาหารต่างชนิดกัน สัตว์เดรัจฉานต่างๆก็ยินดีในอาหารต่างชนิดกัน ตัวอารมณ์อันน่าปรารถนาในรูปแบบต่างๆนั้น เป็นเพียงสื่อหรือตัวล่อ ที่ชักนำให้จิตเพลิดเพลินอยู่กับมันได้โดยง่าย ตัวมันเองคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้เป็นตัวทำให้เกิดความสุขขึ้นมาได้โดยตรง แต่การชักจูงจิตให้เข้าไปพัวพันอยู่ได้โดยง่ายต่างหากคือข้อดีของมัน ถ้าอารมณ์ทั้งหลายให้ความสุขได้โดยตรงด้วยตัวของมันเองแล้ว บุคคลแต่ละคน สัตว์ต่างชนิด ต่างเพศ ก็จะต้องปรารถนาและเป็นสุขเมื่อได้เสพอารมณ์ที่มีรสชาติในลักษณะเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงเราทุกคนย่อมเห็นประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าสัตว์ต่างชนิด ต่างเพศ ล้วนถูกดึงดูดโดยอารมณ์ที่มีลักษณะต่างๆกัน อาหารเน่าเสียของมนุษย์สามารถเป็นอารมณ์อันวิจิตรคืออาหารชั้นเลิศของสุนัขได้ฉันใด อาหารที่สุนัขไม่ปรารถนาก็สามารถเป็นอาหารชั้นเลิศของมนุษย์ได้ฉันนั้น กลไกของมันคือ เมื่ออารมณ์อันน่าพอใจนั้นกระทบประสาทสัมผัส ก็ดึงดูดใจให้เข้าไปพัวพันเพลิดเพลินอยู่ จนอาจเกิดเป็นสมาธิอย่างอ่อนๆทำให้ขณะที่เสพอารมณ์นั้น จิตก็ละจากอารมณ์อื่นๆอันเป็นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจลงชั่วคราว ยิ่งอารมณ์นั้นวิจิตรสำหรับผู้เสพมากเท่าใด ก็ดึงดูดให้เกิดความเพลินได้มากและสงบทุกข์หรือลืมทุกข์ในขณะนั้นไปได้มากเท่านั้น ความสุขที่เกิดจากกามคุณในส่วนที่สองเกิดขึ้นด้วยกลไกดังกล่าวนี้

    ด้วยเหตุนี้ กามคุณทั้งหลายจึงไม่ได้ให้ความสุขได้ด้วยตัวของมันเองโดยตรง แต่เมื่อสร้องเสพโดยประสาทสัมผัสที่เหมาะกัน ก็ทำให้เกิดความเพลิน เมื่อเกิดความเพลินก็เป็นสุข (สงบทุกข์หรือลืมทุกข์) เมื่อได้เสพสุขแล้วก็หมายรู้ด้วยโมหะว่าสิ่งนี้คืออารมณ์อันวิจิตรสำหรับตน ตัณหาในสิ่งเสพชนิดนั้นก็ถูกเร้าให้ฟุ้งขึ้น แม้ว่าความสุขจะไม่ได้มีอยู่โดยสภาวะที่แท้จริงก็ตาม เนื่องด้วยเมื่อกล่าวโดยสภาวะ กามคุณไม่ว่าจะวิจิตรเพียงใดมันก็ยังเป็นทุกข์เพราะความเป็นสังขตธรรมของมันนั่นเอง

    คนเราเมื่อติดสุขจากกามคุณย่อมติดส่วนของความสุขในขณะเสพ ดังนั้น ที่ติดใจกันจริงๆแล้วก็คือคุณสมบัติของการดึงดูดให้เกิดความเพลินจนลืมทุกข์ของกามคุณทั้งหลาย เมื่อจะแก้ทุกข์ที่ต้นตอของปัญหา ท่านจึงให้แก้ด้วยการละตัณหาซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัยอริยสัจ) เพื่อเข้าถึงภาวะที่ประเสริฐกว่า คือการพ้นทุกข์สิ้นเชิง (นิโรธอริยสัจ) ไม่ใช่แก้ด้วยการสนองตัณหาเพื่อเพลิดเพลินลืมทุกข์ไปชั่วคราวซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เปรียบเหมือนคนคอยดับไฟที่ลุกโชนขึ้นและหลงพอใจกับการบรรเทาลงของไฟนั้น แต่ไม่เอาเชื้อไฟออก หรือ คนเป็นโรคเรื้อนยินดีกับการเกาแผลให้หายคัน แต่ไม่รักษาโรคเรื้อนให้หาย

     พึงสังเกตว่า ความที่กามสุขไม่ได้เป็นการสร้างสภาวะสุขขึ้นมาโดยตรงต้องอาศัยความวิจิตรของอารมณ์เป็นตัวชักจูงให้เพลิดเพลินนี่เอง เป็นเหตุให้เมื่อเสพซ้ำๆบ่อยเข้าจึงเกิดความเบื่อหน่าย จืดจางลงไป ส่วนฌานสุขนั้นจิตเป็นฝ่ายกระทำต่ออารมณ์ โดยไม่ต้องอาศัยความวิจิตรของอารมณ์นั้นมาดึงจิตจูงใจให้เพลิดเพลิน ความเบื่อหน่ายหรือจืดจางลงจากการเสพซ้ำๆ จึงไม่มี อย่างไรก็ตาม ฌานสุขก็เป็นของชั่วคราวเหมือนกามสุข

ตารางแสดงระดับความรู้สึกสุขและทุกข์สภาวะ
(ตัวเลขเป็นค่าประเมินเพื่อให้มองภาพรวมได้สะดวกเท่านั้น)

    เมื่อสภาวะที่พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงกับความสุขที่สูงสุดเป็นเรื่องเดียวกัน นิพพานอันเป็นความพ้นจากทุกข์จึงเป็นภาวะที่สุขที่สุดเท่าที่จะเกิดมีขึ้นได้ในธรรมชาติ ครอบงำท่วมทับสุขอื่นไว้ทั้งหมด

    นอกจากนี้ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้ให้ช่วยกันพิจารณาว่า นิพพานเป็นบรมสุขนั้นถือเป็นการกล่าวตามสภาวะได้ เพราะว่าความเป็นบรมสุขของนิพพานเป็นภาวะที่ไม่เกี่ยวกับทุกข์แล้ว จึงบัญญัติชื่อของภาวะนั้นว่าเป็น “บรมสุข” ขึ้นได้เลยโดยไม่ต้องไปอิงกับสภาวะทุกข์มาก/น้อยเหมือนสุขในระดับสุขเวทนา ลักษณะเดียวกับที่กล่าวว่านิพพานเป็นความ “บริสุทธิ์” “หลุดพ้น” “สงบ” “สันติ” ฯลฯ นั่นเอง คือชี้ไปที่สภาวะนั้นๆเลยโดยตรงได้

     ขอยกคำสอนของนักปราชญ์คนสำคัญทางพระพุทธศาสนาสองท่าน คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และท่านพุทธทาสภิกขุ มานำเสนอไว้ ดังนี้

     “พูดให้ลึกลงไปอีก ให้ตรงความจริงแท้ว่า ที่ว่าเป็นสุขหรือรู้สึกสุข (สุขเวทนา) นั้น ตามที่แท้จริงก็ไม่ใช่ปลอดพ้นหรือหายทุกข์ แต่เป็นเพียงระดับหนึ่งหรือขีดขั้นหนึ่งของทุกข์เท่านั้น กล่าวคือ ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่ผ่อนหรือเพิ่มถึงระดับหนึ่งหรือในอัตราหนึ่ง เราเรียกว่าเป็นสุข เพราะทำให้เกิดความรู้สึกสุข แต่ถ้าเกินกว่านั้นไป ก็กลายเป็นต้องทนหรือเหลือทน เรียกว่า เป็นทุกข์ คือรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ว่าที่แท้จริงก็มีแต่ทุกข์ คือแรงบีบคั้นกดดันขัดแย้งเท่านั้น ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง”

     “เหมือนกันเรื่องความร้อนและความเย็น ว่าที่จริง ความเย็นไม่มี มีแต่ความรู้สึกเย็น สภาวะที่เป็นพื้นก็คือ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง จนถึงไม่มีความร้อน ที่คนเราพูดว่าเย็นสบายนั้น ก็เป็นเพียงความรู้สึก ซึ่งที่แท้แล้วเป็นความร้อนในระดับหนึ่งเท่านั้น”

(สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น หน้า 75 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 16 ปี 2548)

     ““ความสุข” มีหลายชั้น แท้จริงมีแต่ “สิ้นทุกข์” ถ้าพูดจริง พูดภาษาจริง เขาไม่เรียกว่า ความสุขดอก ; แต่จะพูดภาษาชวนเชื่อให้คนสนใจ, เพื่อให้คนสนใจก็ต้องพูด คำพูดที่ชวนความสนใจ ; ฉะนั้นคำว่า “ความสุข” ก็ยังต้องพูดกันต่อไป … พูดตามจริง ตามตรงว่า มันไม่มีความสุขดอก มีแต่ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์.”

(พุทธทาสภิกขุ, สุขแท้เมื่อสิ้นสุดแห่งความสุข หน้า 18-19 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2541)

     กล่าวคือจะมองในแง่ไหนก็ถูก ก็เป็นความจริงทั้งสองแง่ เพียงแต่จริงในระดับความลึกต่างกันเท่านั้น ที่ว่ารู้สึกสุขนั้นก็จริง ที่ว่าสภาวะแท้ๆของโลกมีแต่ทุกข์นั้นก็ถูก

     ผู้ที่เห็นว่า ความสุขนั้นไม่มีอยู่จริงโดยสิ้นเชิง ปราศจากสาระและไร้คุณค่าด้วยประการทั้งปวง ชื่อว่าดำเนินชีวิตผิดพลาดด้วยการยอมรับด้านลบแต่กลับทิ้งด้านบวกของโลกไปเสีย ด้วยทิฏฐินี้เขาย่อมละทิ้งสุขอันชอบธรรม แล้วเอาทุกข์เข้าท่วมทับตน เป็นผู้ที่แล่นเลยเถิดไป

     ส่วนความเข้าใจผิดในลักษณะที่ว่า ความสุขในโลกมีอยู่จริงโดยสภาวะของมันเองแท้ๆ เป็นความเห็นที่ทำให้คนเรายึดติดการเสวยสุขเวทนาอยู่ร่ำไป เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมมิใช่ฐานะที่จะเห็นนิพพานเป็นสันติบท เป็นผู้ที่ติดข้องล้าหลังอยู่

     อย่างไรก็ตาม แม้สุขเวทนาจะเป็นจริงเฉพาะในขั้นความรู้สึกของมนุษย์ ก็มิใช่ว่าโลกจะมืดมนลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับสว่างไสวด้วยความเข้าใจตามที่มันเป็นจริง ด้วยเหตุเพราะผู้เข้าใจโลกตามความเป็นจริงย่อมสามารถหาประโยชน์จากสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ทั้งหลายในโลกได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถเลี่ยง หรือบรรเทาโทษ อันเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของมันลง เรื่อยไปจนถึงความหลุดพ้นจากโลก ด้วยเหตุแห่งความเจริญขึ้นของสัมมาทัศนะไปตามลำดับ

     การพิจารณาเห็นสุขและทุกข์ตามความเป็นจริง ทั้งในขั้นความหมายรู้ทั่วไปและในขั้นสภาวะแท้จริง มีความสำคัญอย่างยิ่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงกล่าวไว้ในช่วงท้ายของหนังสือพุทธธรรม (หน้า 1134 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 42 ปี 2558) ดังนี้

     “จะพูดว่า พระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่ากระบวนการกำจัดทุกข์ก็ได้ จะพูดว่าอะไร เมื่อเข้าแนวธรรม ลงกับธรรมดาของธรรมชาติ ก็พูดได้ทั้งนั้น ทั้งหมดก็เป็นแง่ความหมายที่มาโยงถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”