กรรม 12 นี้ เป็นมติของอรรถกถาจารย์ มีข้อที่ได้ต้นเค้ามาจากพระไตรปิฎกคือ 3 ข้อแรก โดยท่านจัดแบ่งกรรมไว้เป็น 3 หมวด
จำแนกตามเวลาที่ให้ผล
- กรรมให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ 1 เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น แต่ไม่ได้การเสพคุ้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ท่านเปรียบเหมือน พรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูกเนื้อก็ล้มที่นั่น ถ้าพลาดก็รอดไปเลย
- กรรมให้ผลในที่จะไปเกิด : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ 7 เป็นเจตนาที่ได้เสพคุ้นมาแล้ว แต่มีกำลังจำกัดเพราะเป็นจิตที่กำลังสิ้นสุดวิถี กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้าก็กลายเป็นอโหสิกรรม
- กรรมให้ผลในภพต่อๆไป : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ 2-6 กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต ไม่เป็นอโหสิกรรม เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเมื่อใด ก็กัดเมื่อนั้น (จนกว่าผลของกรรมนั้นจะหมด)
- อโหสิกรรม : กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้
จำแนกตามการให้ผลตามหน้าที่
- กรรมแต่งให้เกิด (ชนกกรรม) : กรรมที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะปฏิสนธิ และในเวลาที่ชีวิตเป็นไป
- กรรมสนับสนุน (อุปัตถัมภกกรรม) : กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากได้เอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น เป็นไปนาน
- กรรมบีบคั้น (อุปปีฬกกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน
- กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนกรรมอื่นๆที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น
(อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ) คนที่ชนกกรรมคือกรรมดั้งเดิมแต่งมาให้ตกต่ำแล้ว ไม่ทอดอาลัยในความตกต่ำนั้น ทำความดีให้มากขึ้น ความดีนั้นก็จะเป็นอุปปีฬกกรรม คือกรรมที่เบียนกรรมดั้งเดิมได้ ควรจะตกต่ำมาก ก็ทำให้กลายเป็นตกต่ำแต่เล็กน้อย หรือทรงตัวอยู่ได้ ถ้าทำความดีมากถึงขนาด ความดีนั้นก็จะเป็นอุปัจเฉทกกรรม คือกรรมตัดรอนกรรมดั้งเดิม ควรจะตกต่ำล่มจม ก็กลายเป็นฟื้นตัวและเฟื่องฟูเจริญขึ้นได้ เข้าในลักษณะ “ตโมโชติปรายโน” เป็นผู้มืดมาแล้วสว่างไป, แต่ในเรื่องเช่นนี้ ไม่พึงเข้าใจว่ามีเฉพาะทางดี แม้ทางชั่วก็มีได้เหมือนกัน
จำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล
- กรรมหนัก (ครุกรรม) : ในฝ่ายดี ได้แก่สมาบัติ 8 ในฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม 5 (บางคัมภีร์รวมนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นในทางปฏิเสธกรรมและผลแห่งกรรมด้วย) ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆเสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป
- กรรมเคยชิน (อาจิณณกรรม) : กรรมที่ทำมาก สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อย ทำมาก มีกำลังกว่า ก็จะให้ผลก่อน กรรมต่อไปนี้ให้ผลต่อจากครุกรรม
- กรรมใกล้ตาย (อาสันนกรรม) : กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย ให้ผลหลังจากกรรม 2 ข้อก่อน (แต่บางคัมภีร์ ก็ว่าให้ผลก่อนอาจิณณกรรม บ้างก็ว่าอาสันนกรรมโดยมากก็สืบมาแต่อาจิณกรรมนั่นเอง)
(อรรถกถาจารย์ขยายความว่า ขณะใกล้ตาย ถ้ามีอวิชชาเป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิ จะนำไปสู่ทุคติภพ, ถ้ามีภวตัณหา (ความอยากมีอยากเป็น) เป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ จะนำไปสู่ สุคติภพ)
(ตามนัยพุทธพจน์ จะไปเกิดสุคติ หรือ ทุคติ ดูจากอาการสุข ทุกข์ ของจิตใจในขณะตายของผู้นั้นก็ได้เพราะจุติจิตนั้นเป็นเหตุของปฏิสนธิจิต ไม่มีระหว่างขั้น เปรียบเหมือนบุรุษโหนเถาวัลย์จากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่ง ตายด้วยจิตเป็นสุข สงบเย็นด้วยกุศลธรรม ย่อมหวังสุคติภพได้) - กรรมสักว่าทำ (กตัตตากรรม) : กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆโดยตรง เป็นกรรมเบา ต่อเมื่อไม่มีกรรม 3 ข้อก่อน กรรมนี้จึงให้ผล
นอกจากนี้คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ยังแสดงกรรมไว้อีกหมวดหนึ่ง คือ
จำแนกตามภพเป็นที่ให้ผล
- อกุศลกรรม : (ยกเว้นอุทธัจจะ) เช่น ที่จำแนกเป็นอกุศลกรรมบถ 10 ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ
- กามาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ 7 (มนุษย์ และสวรรค์ 6)
- รูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน 4 ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ
- อรูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน 4 ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในอรูปภพ
“ในสังสาระ (การเวียนว่ายตายเกิดที่กำหนดจุดเริ่มต้นมิได้) สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากัน มิใช่หาได้ง่าย” (มาตุสูตร, 16/450)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารวัฏนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้” (ทุคคตสูตร, 16/443)
“ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวนานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส (ที่เกิดของพระอนาคามี) เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก” (มหาสีหนาทสูตร, 12/187)
“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห่วงหนึ่งอยู่ในมหาสมุทร ในมหาสมุทรนั้น มีเต่าตาบอดตัวหนึ่งล่วงไป ร้อยปีจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่ง, ข้อที่เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงยื่นคอเข้าไปในห่วงนั้น ยังจะเร็วเสียกว่าการที่คนพาลซึ่งเข้าถึงการเกิดเป็นวินิบาตแล้ว (นรก, อสุรกาย) จักได้ความเป็นมนุษย์สักครั้งหนึ่ง และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในสกุลต่ำ” (พาลบัณฑิตสูตร, 14/481-482)
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายพระนขา (เล็บ) แล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนไว้ในปลายเล็บกับแผ่นดินใหญ่นี้ ไหนจะมากกว่ากัน?” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลายพระนขา ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีน้อย โดยที่แท้สัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์มีมากกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ 4 ฉะนั้นเธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” (อัญญตรสูตร, 19/1757)
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ หลังจากตายไป ขอให้เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งขัตติยมหาศาลเถิด (พระราชา), ดังนี้ เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้เธออุบัติในฐานะนั้น
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ เราจักบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน, ดังนี้ เธอก็บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ย่อมไม่เกิดในที่ไหนๆ” (สังขารูปปัตติสูตร, 14/318-332)