10) ตายดีเพราะมีที่พึ่งประเสริฐ เกิดดีเพราะมีศีล

        เมื่อธรรมชาติกำหนดให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมุ่งหน้าไปสู่ความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องราวของความตายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่น่าใส่ใจพิจารณา และเมื่อคำนึงถึงความตาย ย่อมเชื่อมโยงความคิดไปสู่การเกิดด้วย …ตายแล้วไปไหน? ความตายทรมานไหม? เราสามารถที่จะตายแล้วเลือกที่เกิดของตัวเองได้หรือไม่? คำถามเหล่านี้ล้วนแต่เป็นที่สนใจของผู้คนแทบทุกยุคสมัย

        ในบทความนี้ข้าพเจ้าจะนำเสนอโดยมุ่งเป้าหมายไปในประเด็นที่ว่า “การตายดี” คือ ตายอย่างสงบ พร้อมทั้งคาดหวังได้ว่าจะไปเกิดในภพภูมิที่ดี ควรจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยจะยกพุทธพจน์รวมถึงหลักอ้างอิงต่างๆให้พิจารณาประกอบบทความเท่าที่ข้าพเจ้าพอจะค้นหาได้

        ขอกล่าวถึงเนื้อหาต่างๆทั้งส่วนที่เป็นประเด็นหลักของบทความและเกร็ดความรู้ปลีกย่อยที่พึงทราบประกอบไปตามลำดับ

รูปแบบการเกิดของสิ่งมีชีวิต

        พระพุทธศาสนาอธิบายว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดในภพต่างๆนั้น เกิดได้ 4 ลักษณะ คือ

  • ชลาพุชะ : เกิดในครรภ์แล้วคลอดออกมาเป็นตัว เช่น คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ
  • อัณฑชะ : เกิดในไข่แล้วจึงออกมาเป็นตัว เช่น นก ปลา
  • สังเสทชะ : เกิดในของชื้นแฉะหมักหมมเน่าเปื่อย ขยายแพร่ออกไปเอง เช่น สัตว์จำพวกหนอนบางชนิด
  • โอปปาติกะ : เกิดผุดขึ้น คือ เมื่อเกิดก็โตเต็มตัวในทันใด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรกและเปรตบางพวก ท่านว่า เกิดและตาย ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ

(กำเนิด 4, 12/169)

ธรรมชาติของจิตขณะใกล้ตาย

        ตามหลักพระอธิธรรมจิตของสิ่งมีชีวิตมีระดับความเข้มข้นและอ่อนแรงในการตื่นตัวออกรับรู้สิ่งต่างๆที่ไม่เท่ากันด้วยเหตุแห่งปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในสภาวะปกติเมื่อการรับรู้ของจิตมีความเข้มข้น เราก็จะสามารถควบคุมความนึกคิดและการกระทำของตนได้ตามสมควร เนื่องจากการทำงานของจิตเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เต็มกระบวนการ ถ้าความเข้มข้นสมบูรณ์ของปัจจัยการรับรู้ลดลง กระบวนการทำงานของจิตก็อ่อนกำลังลง เช่น ในขณะเหม่อลอย ง่วงจัด เมาสุรา เป็นต้น

        ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ท่านกล่าวว่าจิตในเวลาที่จะสิ้นชีวิตก็จัดเป็นจิตมีกำลังอ่อนเช่นเดียวกัน เนื่องจากอำนาจของกรรมที่ส่งผลกำลังจะหมดลงร่วมกับความเสื่อมแห่งร่างกาย (มีชื่อเรียกเฉพาะว่า มรณาสันนวิถี ซึ่งจะนำไปสู่ จุติจิตและปฏิสนธิจิต อันเป็นจิตซึ่งไปเกิดในภพใหม่, ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมดู กระบวนการของจิตแบบต่างๆในคัมภีร์อภิธรรม หรือศึกษาอย่างย่อจากในหนังสือ จิตวิทยาในพระอภิธรรม, พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ))

        ความตายและการเกิดของสัตว์นั้น เกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่มีระหว่างขั้น คือตายเมื่อใด (จิตดวงสุดท้ายในภพเดิมดับ) ก็เกิดเมื่อนั้นต่อเนื่องกันทันที (จิตดวงใหม่ในภพใหม่) ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สิ่งมีชีวิตเมื่อใกล้จะตายจิตมีกำลังอ่อนยากจะควบคุมความนึกคิดและการกระทำของตนตามใจปรารถนาได้ ขณะนั้นจิตจะยึดหน่วงเอาสิ่งที่ตนกระทำจนเคยชิน หรือสิ่งที่ประทับฝั่งแน่นอยู่ในจิตใจเข้าเป็นนิมิตอารมณ์ สัตว์บุคคลหนึ่งๆกระแสธารแห่งชีวิตจะนำเขาไปเกิดยังฟากฝั่งเบื้องหน้าในภพภูมิใด ด้วยรูปร่าง ลักษณะ คุณสมบัติ ดี ชั่ว อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของกรรมที่จะมาปรากฏเป็นนิมิตอารมณ์ในวาระสุดท้ายของชีวิตนี่เอง

        ถ้าเป็นนิมิตอารมณ์ในทางกุศล เช่น หวนคำนึงถึงความดีงาม การให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล วัด หล่อพระพุทธรูป การใส่บาตรเป็นประจำ รักษาศีล ฟังธรรม ในวาระสุดท้ายบุคคลย่อมเกิดปีติโสมนัส มีความแช่มชื่น อิ่มเอิบใจ สีหน้าเบิกบานคล้ายกับว่าตนกำลังทำบุญนั้น บางกรณีท่านว่าอาจปรากฏเห็นสถานที่อันน่ารื่นรมณ์รอต้อนรับอยู่ในภพหน้า เช่นนี้แล้วย่อมไม่หวาดหวั่นต่อความตายที่อยู่ตรงหน้าและจากไปอย่างสงบสู่สุคติภพอันสมควรแก่กรรมของตน

        ส่วนในกรณีที่แย่ อันมักเกิดกับผู้ที่ดำรงชีวิตด้วยความเคยชินกับการทำบาปอกุศล ในวาระสุดท้ายจิตจะหวนคำนึงถึงกรรมชั่วที่ตนได้ทำแล้ว เช่น เห็นถึงการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฉ้อโกง การกระทำอันเป็นความชั่วร้ายเบียดเบียนต่างๆ จิตย่อมเศร้าหมอง หรือ เห็นมีด หอก ดาบ อุปกรณ์เครื่องมือในการประหัดประหารต่างๆที่ตนเคยใช้ก็เกิดความสะดุ้งหวาดกลัว รวมถึงอาจปรากฏเห็นสถานที่อันไม่น่าปรารถนา เช่น เห็นไฟนรกในผู้ที่จะต้องไปเกิดในนรก เห็นหนองน้ำ เห็นป่า ในผู้ที่จะต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น เมื่อนิมิตฝ่ายบาปอกุศลปรากฏในวาระสุดท้ายเช่นนี้ ย่อมนำไปเกิดในทุคติและมักตายจากไปอย่างกระสับกระส่ายหรือหลงตาย

        นิมิตอารมณ์ที่จะต้องปรากฏขึ้นอย่างแน่นอนในวาระสุดท้ายของชีวิตนี้ ท่านเปรียบเทียบไว้อย่างน่าพิจารณาว่าเป็นเสมือน “การฝันครั้งสุดท้ายในชีวิต”

        “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมองมลทินจับช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น.

        “ผ้าที่บริสุทธิ์สะอาด ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมดี มีสีสด ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะผ้าเป็นของบริสุทธิ์ ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น”

(วัตถูปมสูตร, ๑๒/๙๒)

กรรมที่จะนำไปเกิดในภพใหม่

        นิมิตอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นในวาระสุดท้ายของชีวิตซึ่งมีหน้าที่นำพาบุคคลเคลื่อนไปสู่อีกฝากฝั่งแห่งภพใหม่ เกิดขึ้นด้วยอำนาจกรรม 4 ประการ เรียงตามลำดับ คือ

  • ครุกรรม : กรรมหนัก 5 ประการ คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำสงฆ์ให้แตกกัน ทำโลหิตพระพุทธเจ้าให้ห้อ ย่อมส่งผลเป็นอันดับแรก นำผู้กระทำไปสู่ทุคตินรกโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
  • อาจิณณกรรม : กรรมที่ทำจนเคยชิน
  • อาสันนกรรม : กรรมที่ระลึกได้เมื่อใกล้ตาย
  • กตัตตากรรม : กรรมที่ทำโดยเจตนาอันอ่อน หรือไม่ได้ตั้งใจ จัดเป็นกรรมเล็กน้อยที่เมื่อกรรม 3 อย่างแรกไม่มีโอกาสส่งผล กตัตตากรรมจึงค่อยส่งผล

(วิสุทธิมรรค, หมวดกรรมให้ผลตามความหนักเบา)

        หมวดกรรม 4 นี้ ผู้ที่ได้ทำครุกรรมมาแล้วต้องไปสู่อบายภูมิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้แต่ผ่อนความหนักหน่วงของอกุศลกรรมลงด้วยการเพียรพยายามทำกุศลกรรมต่างๆเข้าชดเชย ดังเช่นพระเจ้าอชาติศัตรูหลังจากปลงพระชนม์พระบิดาของตน ในวันเดียวกับที่พระโอรสของพระองค์ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความรักที่มีต่อบุตร พระเจ้าอชาติศัตรูก็เกิดสติสำนึกในความผิดใหญ่หลวงของตน แล้วกลับใจมุ่งทำความดี

        จะเห็นว่าในวาระสุดท้ายนั้น ในกรณีทั่วๆไปกรรมที่มีโอกาสจะส่งผลเป็นพาหนะนำไปเกิดในภพใหม่มากที่สุดก็คือ อาจิณณกรรมและอาสันนกรรม สิ่งที่พึงทราบก็คือ ท่านว่าส่วนใหญ่อาสันนกรรม ซึ่งระลึกขึ้นมาได้เมื่อใกล้จะตายนี้ โดยมากก็สืบเนื่องมาจากความเคยชินแห่ง อาจิณณกรรมนั่นเอง

        ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า ถ้าบุคคลทำความชั่วมาตลอดชีวิต ครั้นใกล้ตายจะให้จิตหวนมาฝักใฝ่อยู่กับกุศลธรรมต่างๆ จะเป็นไปได้โดยง่ายหรือ? กลับกัน ผู้ที่ทำความดีอยู่เป็นประจำ ในวาระสุดท้ายแม้จิตของเขาจะอ่อนกำลังเต็มที แต่ย่อมโน้มเอียงไปทางกุศลได้เองโดยไม่ยาก ดังพุทธพจน์

“ความดี คนดีทำง่าย คนชั่วทำยาก
ความชั่ว คนชั่วทำง่าย ผู้ที่เจริญแล้วทำได้ยาก”

(อานันทสูตร, ๒๕/๑๒๔)

        เมื่อกรรมที่เรามักหวนระลึกในวาระ โดยมากสืบเนื่องมาจากกรรมที่เราได้เคยทำเป็นประจำ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ถ้าท่านปรารถสุคติ ท่านควรทำกุศลอย่างสม่ำเสมอ สะสมไปทีละเล็กละน้อยในระยะยาว การฝากความหวังไว้ว่าเมื่อใกล้ตายค่อยมาคิดดีทำดีเพื่อจะไปเกิดดีนั้น อาจเป็นการตั้งความหวังที่มีโอกาสเป็นจริงได้ยากอยู่สักหน่อย (แม้ตามหลักฐานในคัมภีร์จะมีกล่าวถึงบางกรณีที่เป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่มากนัก) คล้ายกับผู้ที่ขับรถมุ่งหน้าไปทางทิศใต้มาตลอดด้วยความเร็วสูงย่อมจะหักเลี้ยวกลับรถไปทางทิศเหนือในทันทีทันใดได้ยากฉะนั้น

ตายดีเพราะมีที่พึ่งประเสริฐ เกิดดีเพราะมีศีล

        ในการทำกุศลกรรมอย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่สุคติในภายภาคหน้านั้น ผู้เขียนจะนำเสนอทางที่เห็นว่าสะดวกไว้ 2 แนว คือ “การรักษาศีล” กับ “การมีศรัทธาถูกทาง” ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยากนัก สะดวก ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์ใดๆ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปไหนได้แล้วก็ตาม ทั้งนี้พึงตระหนักว่า อนาคตเป็นของรู้ได้ยาก เมื่อมีโอกาสควรหมั่นทำกุศลอย่างสม่ำเสมอจักเป็นประโยชน์ เป็นความสุขความเจริญแก่ตน ทั้งในปัจจุบันและในกาลภายภาคหน้าอย่างแน่นอน

1. การรักษาศีล

        การรักษาศีลในระดับคฤหัสโดยทั่วไปท่านหมายถึงระดับพื้นฐาน คือ ศีล 5 ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “เจตนาไม่เบียดเบียนผู้อื่น” โดยแบ่งเป็น 5 ข้อซึ่งจะขอทวนไว้ ดังนี้

  • เจตนางดเว้นจากการเบียดเบียนประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่น
  • เจตนางดเว้นจากการลักขโมย แย่งชิง ล่วงละเมิดในทรัพย์สินของผู้อื่น
  • เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ บริโภคกามแต่ในทางที่ปราศจากโทษ
  • เจตนางดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา คือการกล่าวเท็จ ทำลายประโยชน์ของเขา
  • เจตนางดเว้นจากสุรา ยาเสพติด อันเป็นเหตุให้หลงลืมเสียสติ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

        การรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์คงไม่ยากจนเกินไปนัก หรือถ้าจะมีมัวหมองบ้างก็ขอให้จำกัดที่สุด เพียงเท่านี้ ท่านก็จะได้ชื่อว่ามีสิ่งอันน่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ไว้ให้ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามวิกฤตแห่งชีวิต

ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล 5 ประการเหล่านี้

  1. คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมได้รับกองโภคะใหญ่ อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ
  2. คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล กิตติศัพท์อันงามย่อมขจรไป
  3. คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆย่อมองอาจไม่เก้อเขิน
  4. คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมไม่หลงตาย
  5. คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

(มหาปรินิพพานสูตร, 10/80)

        แม้เป็นผู้ที่เคยประพฤติผิดมาแล้ว ทำอกุศลกรรมมาอย่างมากมายในอดีต ก็ไม่ควรนำสิ่งที่ล่วงไปแล้วมาเป็นเหตุให้เสียกำลังใจ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า

        “ก็ผู้ใด เมื่อก่อนประมาท ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆหมอก ฉะนั้น
        ผู้ใด ทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆหมอก ฉะนั้น”

(อังคุลิมาลสูตร, ๑๓/๕๓๔)

2. การมีศรัทธาถูกทาง

        การมีศรัทธาถูกทางเป็นการชื่นชมยินดีและเคารพนับถือในคุณงามความดีอันยิ่งใหญ่ที่ท่านผู้ใดผู้หนึ่งได้กระทำไว้แล้ว ขณะที่มีศรัทธาถูกทางเช่นนี้ จิตย่อมเป็นกุศล มีความผาสุก เบิกบาน อบอุ่น เนื่องจากมีที่พึ่งอันประเสริฐไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ

        การมีศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันควรแก่การน้อมใจศรัทธาในระดับสูงสุด แต่ทั้งนี้ ในการโน้มน้าวบุคคลที่ยังไม่ได้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากนัก อาจเป็นการยากที่จะเกิดความประทับใจและเลื่อมใสศรัทธาได้อย่างจริงจัง กรณีเช่นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าท่านอาจยกบุคคลที่มีคุณงามความดีต่างๆ ที่คนผู้นั้นเคารพนับถืออยู่ก่อนแล้ว บุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่เขาสามารถจะรู้สึกประทับใจในคุณงามความดีของผู้นั้นได้มากเป็นพิเศษ มาใช้เป็นหลักในการยึดถือศรัทธาก็ได้

        ประการสำคัญคือต้องเป็นบุคคลที่มีคุณงามความดีอย่างแท้จริงเท่านั้น เพราะจิตจะเป็นกุศลได้ด้วยเหตุอันเกิดจากความชื่นชมยินดีในกุศลธรรม ไม่ได้เกิดจากความยึดติดที่ตัวบุคคล กระบวนการคล้ายกับเวลาที่เราพบเห็นหรือทราบว่าผู้หนึ่งผู้ใดทำความดี แล้วเราอนุโมทนาสาธุการในความดีของเขานั่นเอง เรายกย่องเชิดชูในกุศลธรรมที่เขาได้กระทำ

        “อานนท์ ถูปารหบุคคล (ผู้ควรสร้างสถูปถวาย) ๔ จำพวกนี้
๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
๓. พระสาวกของพระตถาคต
๔. พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม
        พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ อะไร
        คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่า ‘นี้เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น’ พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล” (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า, พระสาวกของพระพุทธเจ้า, พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ในบทนี้พระองค์ตรัสเนื้อความเดียวกัน)

(มหาปรินิพพานสูตร หัวข้อ ถูปารหบุคคล, 10/124)

        ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา
๑. สังเวชนียสถานอันเป็นที่พึงระลึกว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ ฯ
๒. สังเวชนียสถานอันเป็นที่พึงระลึกว่า พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ฯ
๓. สังเวชนียสถานอันเป็นที่พึงระลึกว่า พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ ฯ
๔. สังเวชนียสถานอันเป็นที่พึงระลึกว่า พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในที่นี้
        สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้แล เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ฯ
        ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่าพระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

(มหาปรินิพพานสูตร หัวข้อ สังเวชนียสถาน, 10/131)

        การเดินทางไปยังสถานที่จริง ย่อมนำให้เกิดศรัทธาปสาทะขึ้นได้โดยง่ายแต่ท่านอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไป ณ สถานที่จริงก็ได้ เพียงแต่น้อมจิตไปพิจารณาด้วยความเลื่อมใส (อาจใช้สื่อหรือสัญลักษณ์บางอย่างช่วย เช่น พระพุทธรูป หนังสือธรรมะ ภาพถ่าย เป็นต้น) ประการสำคัญอยู่ที่อย่างน้อยเราควรจะต้องพอเข้าใจว่า ท่านผู้นี้มีคุณธรรมที่น่าเคารพนับถืออย่างไร มิใช่เพียงการยึดถือเพื่อหวังพึ่งให้ท่านช่วยเหลืออย่างงมงายไร้เหตุผล ซึ่งจะกลายเป็นท่าทีของการสนองกิเลสส่วนตนไปเสียเปล่า จุดสังเกตง่ายๆคือ ถ้ามีศรัทธาถูกทางแล้วจะเกิดความเบิกบาน ผ่องใส อบอุ่นในจิตใจนั่นเอง

พระบรมสารีริกธาตุสำคัญในประเทศไทย

        “พระบรมสารีริกธาตุนี้ เป็นของพระพุทธเจ้า (สมณโคดม) ตระกูลศากยราช ได้รับแบ่งปันในเวลาถวายพระเพลิงพุทธสรีระ”

        ประโยคนี้จารึกไว้ด้วยภาษาพราหมี บนผอบศิลาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถูกขุดพบโดยนักโบราณคดีชื่อ วิลเลียม แคลกตัน เปปเป ชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ.2441 ที่เนินพระเจดีย์เก่าเมืองกบิลพัศดุ์ใกล้เขตแดนอินเดียกับเนปาล

        เนื่องด้วยในขณะนั้น ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาและเป็นประเทศเอกราช มีอยู่ไม่มากนัก ประกอบกับเหตุผลด้านการฑูต รัฐบาลอินเดียจึงได้ถวายผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ให้แก่ประเทศไทย

        พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้อัญเชิญมาบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ภูเขาทอง (บรมบรรพต) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร …ด้วยเหตุนี้ พระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีหลักฐานยืนยันทางประวัติศาสตร์เด่นชัดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงสถิตอยู่ ณ มงคลสถานแห่งนี้มาจวบจนวาระปัจจุบัน