การศึกษาวิชาความรู้ใดก็ตาม ถ้าศึกษาแล้วสามารถสำเร็จประโยชน์กับชีวิตได้จริงในปัจจุบัน ผู้ศึกษาก็ย่อมจะเห็นคุณค่าของวิชาความรู้นั้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะมีประโยชน์ที่ได้ประจักษ์แจ้งแก่ตนนั่นเองเป็นหลักฐานยืนยัน พุทธศาสนิกชนเอง เมื่อการศึกษาปฏิบัติเจริญขึ้นด้วยดีแล้ว ปรารถนาจะมองหาหลักฐานยืนยันคุณค่าของพระพุทธศาสนา ก็ย่อมสามารถที่จะพบได้ที่ตัวของทุกท่านเอง เพียงแต่ถ้ามีผู้ใดต้องการเรียกหาหลักฐานชนิดจับต้องได้แบบเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นรูปธรรม ก็อาจยากสักหน่อยด้วยเหตุเพราะความผสมปนเปหลากหลายของเหตุปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยชน์ที่ยาวไกลออกไปในอนาคตและประโยชน์ที่ลึกซึ้งภายใน ก็ยิ่งเป็นการยากที่จะหาหลักฐานมายืนยันให้แก่ผู้สงสัยได้เห็นชัดๆว่าเมื่อปฏิบัติเช่นนี้ จะเกิดประโยชน์สุขเกิดความเจริญงอกงามดังที่กล่าวมานั้นขึ้นได้จริงๆอย่างไร?
ซึ่งความสงสัยเช่นนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว ดังหลัก กาลามสูตร ท่านตรัสว่าอย่าปลงใจเชื่อเพราะฟังตามกันมา, เข้ากับความเห็นตน, ผู้พูดเป็นครูของเรา เป็นต้น ต่อเมื่อรู้ด้วยตนเอง ว่านั่นเป็นสิ่งดี ไม่มีโทษ ผู้รู้สรรเสริญ เมื่อปฏิบัติสมบูรณ์แล้วเกิดประโยชน์สุขเจริญงอกงาม เมื่อนั้นจึงค่อยเชื่อ (เกสปุตตสูตร, 20/505)
กล่าวโดยสรุป เมื่อจะหาหลักฐานยืนยันคุณค่าของพระพุทธศาสนา วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการหยิบยกธรรมนั้นมาคิดพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบด้วยสติปัญญา รวมถึงนำมาปฏิบัติจนเห็นผลประจักษ์แท้จริงนั่นเอง … แต่เมื่อในความเป็นจริงพระธรรมนั้นเป็นของลึกซึ้งอย่างยิ่ง แม้คิดพิจารณาแล้วลองปฏิบัติดูแล้วก็มิใช่จะรู้ตามได้โดยง่าย เช่นนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร?
ตอบว่า แม้หัวใจของพระพุทธศาสนาคือ โลกุตรธรรมซึ่งเป็นของลึกซึ้งยิ่ง แต่ส่วนที่เข้าใจง่ายและเห็นประโยชน์ได้ชัดในปัจจุบัน ท่านก็ทรงแสดงไว้มาก ตามความเหมาะสมแก่ประโยชน์ของผู้ฟัง ดังนั้น ส่วนที่ลึกซึ้งจึงควรยกไว้แล้วมาพิจารณาจากส่วนที่ง่ายและเห็นได้ชัดก่อน เปรียบเสมือนขึ้นบันไดต้องเริ่มต้นจากก้าวแรกนั่นเอง
ในที่นี้จะยกตัวอย่างฆราวาสธรรม 4 หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ 4 ประการ (อาฬวกสูตร, 15/838-846) คือ
- สัจจะ ซื่อสัตย์ จริงใจ
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี “สัจจะ” หรือไม่
- ทมะ การฝึกฝนปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา (เน้นด้านปัญญา)
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี “ทมะ” หรือไม่
- ขันติ ความอดทน ขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอย (เน้นด้านวิริยะ)
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี “ขันติ” หรือไม่
- จาคะ ความเสียสละ ใจกว้าง ไม่เห็นแก่ตัว
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี “จาคะ” หรือไม่
ดังนี้แล้ว เราย่อมเห็นได้ในปัจจุบันว่า ผู้ใดมี ฆราวาสธรรม 4 เขาย่อมได้รับความเจริญงอกงามในด้านต่างๆ อย่างน่าชื่นชมยินดีอยู่ไม่น้อย แม้ในบางครั้งอาจประสบเหตุที่ไม่เกื้อกูลอันใด ถ้ายังรักษาคุณธรรมนี้ไว้ เขาย่อมอยู่บนเส้นทางแห่งความเจริญงอกงามเรื่อยไป
อีกข้อหนึ่งที่น่าพิจารณาให้เห็นในปัจจุบัน คือ ประโยชน์ด้านความสุขในจิตใจ มีพุทธพจน์หนึ่ง ท่านตรัสว่า บรรดาสุขที่คฤหัสถ์ควรมี “อนวัชชสุข” (สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ) มีค่ามากที่สุด (อันนนาถสูตร, 21/62) ผู้ที่ประกอบสัมมาอาชีวะ ทำมาหากินสุจริต มีรายได้พอเลี้ยงชีพ กับผู้ที่ดำรงชีวิตด้วยมิจฉาอาชีวะ แม้จะมีรายได้พอเลี้ยงชีพเหมือนกัน หรืออาจจะได้มากกว่า แต่ความสุขภายในจิตใจย่อมแตกต่างกันไกล
ประโยชน์ด้านความสุขในจิตใจนี้เอง ที่ครูอาจารย์หลายท่านได้ชี้ให้พิจารณาว่า เป็นผลโดยตรงที่เห็นในปัจจุบันอย่างที่จะกลบเกลื่อนหลอกตัวเองไม่ได้ ส่วนประโยชน์ด้านวัตถุ แม้จะเห็นได้ชัด แต่มีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆเกี่ยวข้องด้วยมาก ทั้งยังต้องรอเวลาส่งผล เช่น คนที่มีความสามารถในทางคดโกง อาจร่ำรวยมีหน้ามีตาในสังคมได้มากมาย ในขณะที่คนทำมาหากินสุจริตบางคนอาจมีเหตุให้ย่อยยับล่มจม จึงก่นด่าโชคชะตาบ้าง โทษว่าโลกไม่ยุติธรรมบ้าง ที่เป็นแบบนี้เพราะเพ่งไปที่ผลทางวัตถุภายนอกเป็นหลัก ซึ่งมีปัจจัยอื่นๆเกี่ยวข้องด้วยมากดังกล่าว แต่ถ้าเพ่งไปที่ผลในจิตใจ กรรมดี/กรรมชั่ว นั้นได้ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพจิตใจของผู้กระทำเสร็จเรียบร้อยแล้วในปัจจุบันขณะ แม้จะไม่ปรากฏแก่สายตาผู้อื่น แต่ตนเองก็พอจะรู้ได้
ลองสังเกตจิตใจตนเอง ก่อนทำชั่ว ขณะทำชั่ว หลังทำชั่วแล้ว เป็นอย่างไร สังเกตจิตใจตนเอง ก่อนทำดี ขณะทำดี หลังทำดีแล้ว เป็นอย่างไร แม้จะเป็นของสังเกตได้ยากอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าไม่ถึงกับเหลือวิสัย
ผู้ที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ความสุข ความเบิกบาน ย่อมเจริญงอกงามขึ้นเองในจิตใจ ดังที่ท่านใช้คำว่าเกิด “ปราโมทย์” ส่วนผู้ที่เดินไปผิดทาง กิเลสอันเป็นมลทิลโทษในจิตใจย่อมหมักหมมอยู่ แม้จะอยู่ท่ามกลางความพรั่งพร้อมทางวัตถุอย่างใดก็ตาม แต่เขาย่อมห่างไกลจากความสุข ความเบิกบาน ภายในจิตใจออกไปทุกขณะ
ประโยชน์สุขมากมาย อาทิเช่น การเจริญเมตตากรุณาเพื่อบรรเทาโทสะ การพิจารณาความไม่เที่ยงเพื่อคลายทุกข์จากความพลัดพรากสูญเสีย ความปีติยินดีในกุศลธรรม สุขอันเกิดจากสมาธิ สุขอันเกิดจากความสงบใจ ฯลฯ ก็เป็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ที่ผู้ปฏิบัติมีความสำเร็จประโยชน์ของตนเองเป็นหลักฐานยืนยันเช่นเดียวกัน เรื่อยไปตามลำดับจนถึงประโยชน์อย่างสูงสุด คือ มรรค ผล นิพพาน ที่ผู้สำเร็จประโยชน์ก็มีความปลอดกิเลส ความเป็นบรมสุขในจิตใจของตนเองเป็นหลักฐาน เพราะพระพุทธศาสนา มุ่งสอนในสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง เกิดประโยชน์แท้จริง ไม่ใช่หลักปรัชญาที่กล่าวขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย ตัวผู้ศึกษาเมื่อพิจารณาจึงสามารถเห็นและได้รับคุณค่าของพระพุทธศาสนาอันเกิดขึ้นกับตัวเองไปตามลำดับตั้งแต่ในเบื้องต้น
ดังคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระธรรม ท่านใช้สำนวนว่า “ทนต่อการเพ่ง” คือ ไม่กลัวการตรวจสอบ ท้าทายต่อการตรวจสอบ (เอหิปัสฺสิโก) เพราะยิ่งพิสูจน์ตรวจสอบ ทดลองปฏิบัติ ก็ยิ่งพบว่าเป็นของดีจริง แม้แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในหลายๆเรื่อง เช่น โลก ระบบสุริยะจักรวาล ไปจนถึงการค้นคว้าเรื่องโมเลกุล อะตอม ปรมาณู ก็มาช่วยยืนยันถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ดังที่ อ.เสถียร โพธินันทะ ได้เคยกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “วิทยาศาสตร์ยิ่งเจริญมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นสักขีพยานต่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามากเท่านั้น”