ธรรม(สิ่ง)ทั้งหลายทั้งปวงแยกได้เป็น 2 อย่าง
- สังขตธรรม (สังขาร) : ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง, สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งรูปธรรมและนามธรรมซึ่งมีความเกิด ดับ ผันแปร มีลักษณะทั้ง 3 คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
- อสังขตธรรม (วิสังขาร) : ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง, สภาวะพ้นโลก, ธรรมอันเป็นที่สิ้นเหตุปัจจัย พ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ พ้นจากความไม่เที่ยงและพ้นจากความเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นอนัตตา ไร้ตัว มิใช่ตน หมายถึง นิพพาน
ไตรลักษณ์ แสดงลักษณะอาการสามด้านของเรื่องเดียวกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ด้วยเหตุเพราะสิ่งทั้งหลายในโลก (คำว่าโลกในที่นี้ หมายถึง สิ่งซึ่งย่อยยับไปได้คือสังขตธรรมนั่นเอง ไม่ได้หมายถึงเพียงโลกมนุษย์ ภพไหนๆก็โลก) เป็นธรรมชาติซึ่งมีลักษณะความเป็นไปโดยทั่วไปเสมอเหมือนกันตามธรรมดาของมัน ในฐานะที่เป็นของปรุงแต่ง เกิดจากเหตุปัจจัย และผันแปรขึ้นต่อเหตุปัจจัยทั้งหลายเช่นเดียวกัน กล่าวอีกสำนวนว่า ไตรลักษณ์เป็นสามัญลักษณะของสังขตธรรมนั่นเอง (ลักษณะโดยพื้นฐานของสิ่งทั้งหลายในโลก)
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชา
สิ่งทั้งหลายทั่วไป มีอยู่และเป็นไปในรูปกระแสของเหตุปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์กันต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย
องค์ประกอบทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายดับไปไม่คงที่ จึงเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง)
เมื่อแต่ละสิ่งแต่ละส่วนที่สัมพันธ์กันล้วนเกิดดับไม่คงที่และเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัย ก็ย่อมถูกบีบคั้นกดดันด้วยความเกิดดับนั่นเอง จึงเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ (ทุกขัง) (ทุกข์ในไตรลักษณ์ เป็นสภาวะตามปกติธรรมดาของธรรมชาติ กินความหมายกว้าง ถ้าเข้าใจว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ คือ ทุกขเวทนา หรือ ความรู้สึกทุกข์ทรมาน จะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายทันที)
และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่าง (ทั้งสังขตะและอสังขตะ) ก็มีภาวะที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง จึงย่อมไม่มี อัตตาตัวตนตัวแกนถาวรอะไร ที่มาแฝงมาซ้อนมาคุมให้เป็นไปอย่างไรๆอีกชั้นหนึ่ง ไม่มีตัวตนของมันเองจริงแท้ที่จะมีอำนาจเป็นเจ้าของครอบครองสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างไรๆเหนือเหตุปัจจัยได้ (อนัตตา)
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะที่มีความสัมพันธ์กันเนื่องอยู่ด้วยกัน ไตรลักษณ์จึงควรพิจารณาร่วมไปด้วยกันโดยพิจารณาจากส่วนที่เห็นง่ายกว่า คือ อนิจจัง ก่อนดังพุทธพจน์
“สิ่งใดไม่เที่ยง (อนิจจัง) สิ่งนั้นปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกขัง), สิ่งใดปัจจัยบีบคั้นได้ สิ่งนั้นไม่เป็นตน (อนัตตา)”
อนัตตา ที่แปลว่า ไม่มีตัวตน ไม่เป็นตัวตนนั้น ไม่ได้หมายถึงไม่มีอะไรเลย คือมีอยู่จริง แต่หมายถึง มีอยู่เป็นอยู่เป็นไป ตามธรรมดาของสภาวะธรรม ไม่มีตัวตนที่จะครอบครองสั่งบังคับให้เป็นหรือไม่เป็นตามที่ปรารถนาโดยไม่ทำตามเหตุปัจจัย, มีอยู่อย่างไม่เป็นอัตตา
อนัตตา แปลว่า ไม่มีอัตตา แต่ไม่ได้แปลว่า ตรงข้ามกับอัตตา สิ่งที่ตรงข้ามกับอัตตาคือ นิรัตตา แปลว่า ความขาดสูญ ซึ่งถือเป็นความยึดถือชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับอัตตา (อัตตา/นิรัตตา เป็นมิจฉาทิฏฐิสุดโต่งไปคนละด้าน)
“สังขาร ทั้งปวง ไม่เที่ยง
สังขาร ทั้งปวง เป็นทุกข์
ธรรม ทั้งปวง เป็นอนัตตา”
พุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฏกนี้ แสดงให้เห็นความแตกต่างอยู่แล้วว่า ขอบเขตของอนัตตากว้างขวางกว่าอนิจจัง และทุกข์ กล่าวคือ ในสองอย่างแรก สังขารทั้งปวง (คือสังขตธรรม) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แต่ในข้อสุดท้าย ธรรมทั้งปวง (คือสังขตธรรม+อสังขตธรรม) แสดงให้เห็นว่า ไม่เฉพาะสังขารเท่านั้น แต่ทั้งสังขารและธรรมอื่นนอกจากสังขาร คือ ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม เป็นอนัตตา
ความแตกต่างนี้จะเข้าใจได้ชัดเมื่อเข้าใจความหมายของ “สังขาร” และ “ธรรม”
“ธรรม” เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ รูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่ดีและชั่ว โลกียธรรมและโลกุตรธรรม สังขตธรรมและอสังขตธรรม รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสภาวธรรม เป็นไปตามธรรมชาติ (อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณี ศัพท์คำว่า “ธรรม” ก็สามารถใช้ในความหมายที่จำเพาะบางขอบเขตความหมายได้ เช่น เมื่อมาคู่กับ “อธรรม” “ธรรม” ก็จะหมายถึง คุณธรรมความดี, เมื่อใช้เกี่ยวกับการศึกษาธรรมะ “ธรรม” ก็จะหมายถึง พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน เป็นต้น)
ส่วนศัพท์คำว่า “สังขาร” ในไตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) กินความหมายกว้างรองลงมา กล่าวโดยย่อคือหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้น นิพพาน นั่นเอง (ทั้งนี้คำว่า “สังขาร” หลายกรณีก็ใช้ในความหมายอื่นที่แคบกว่านี้ เช่น สังขาร ในขันธ์ 5 หมายถึง สภาพปรุงแต่งจิต คุณสมบัติต่างๆของจิต เนื่องจากโดยรูปศัพท์แล้ว “สังขาร” แปลว่า ปรุงแต่ง)