3.1 อารยธรรมวิถี (วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม)

วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม

ทางดำเนินเพื่อเข้าถึงธรรมของอริยชน, วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม

      ในยุคสมัยแห่งบริโภคนิยม มีวัตถุสิ่งเสพปรนเปรออยู่เป็นอันมาก คนยุคปัจจุบันอาจมีความรู้สึกต่อนิพพานในทางลบ เห็นเป็นภาวะที่พึงผละหนี หรือรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลเหลือเกิน ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

      ในสภาพเช่นนี้ นอกจากจะต้องพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิพพานให้เกิดขึ้นแล้ว มีภูมิธรรมระดับหนึ่งที่ควรช่วยกันชักจูงคนให้หันมาสนใจ คือความเป็นโสดาบัน ซึ่งเป็นอริยบุคคลระดับต้นในชุมชนอารยะ ซึ่งมีภาวะชีวิตที่ไม่ห่างไกลสำหรับปุถุชนทั้งหลาย แม้ในสมัยปัจจุบัน กลับจะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งอีกด้วย

      แม้พระพุทธองค์เอง ก็ได้ตรัสแนะนำย้ำไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหล่าชน ทั้งคนที่พวกเธอพึงอนุเคราะห์ และคนที่พอจะรับฟังคำสอน ไม่ว่าจะเป็นมิตร เป็นผู้ร่วมงาน เป็นญาติ หรือสาโลหิตก็ตาม พวกเธอพึงชักชวน พึงสอนให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงมั่น ในองค์คุณของโสดาบัน 4 ประการ” (มิตตามัจจสูตร, 19/1493)

“เลิศล้ำ เหนือความเป็นเอกราชบนผืนปัฐพี ดีกว่าการไปสู่สรวงสวรรค์ ประเสริฐกว่าสรรพโลกาธิปัตย์ คือ ผลการตัดถึงกระแสแห่งโพธิธรรม (โสดาปัตติผล)” (โลกวรรคที่ 13,  25/23)

      หากว่ายังไม่แล่นรุดออกเดินทางจริง ก็ยังอาจก้าวมาอยู่ในขั้นเตรียมพร้อมที่จะเดินทางได้ เรียกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน (ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม) เริ่มได้ชื่อว่าเป็นผู้มีการศึกษา คือผู้ได้เล่าเรียน ได้รู้จักอารยธรรม หรือเป็นผู้ที่ได้ยินเสียงกู่เรียกแล้ว สำหรับในขั้นต้นนี้ สุตะ (การหาความรู้) ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของการพัฒนาชีวิต ที่จะก้าวไปในอริยมรรคา เพราะเมื่อมีความรู้ถูกต้องแล้ว ศรัทธาก็เกิดขึ้น และมีแรงที่จะปฏิบัติคุณธรรมอื่นๆ

      “ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา และศีล กับทั้งสุตะ จาคะ และปัญญา, ผู้นั้น นับเป็นสัตบุรุษผู้ปรีชา ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้”
      “สตรีใดเจริญด้วยศรัทธา และศีล กับทั้งสุตะ จาคะ และปัญญา, สตรีเช่นนั้น เป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้” (วัฑฒิสูตรที่ 1, 22/63-64)

บทที่เกี่ยวข้อง : พระโสดาบัน

บทที่เกี่ยวข้อง : โสดาปัตติยังคะ 4

 

ธรรมในระดับพื้นฐานของคฤหัส

ฆราวาสธรรม

      หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์, คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก 4 ประการ คือ

  1. สัจจะ แปลว่า ความจริง, ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง
  2. ทมะ แปลว่า การฝึกฝน, การปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา (เน้นด้านปัญญา)
  3. ขันติ แปลว่า ความอดทน, ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย (เน้นด้านวิริยะ)
  4. จาคะ แปลว่า ความเสียสละ, ใจกว้าง ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว ไปจนถึงสละกิเลส

      พระพุทธเจ้าทรงแนะให้คิดพิจารณาดูว่า

      มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศและความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี “สัจจะ” หรือไม่
      มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี “ทมะ” หรือไม่
      มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี “ขันติ” หรือไม่
      มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี “จาคะ” หรือไม่

 

สุขของคฤหัสถ์ หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข 4
(สุขของชาวบ้าน, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี)

  1. อัตถิสุข : สุขเกิดจากความมีทรัพย์
  2. โภคสุข : สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ทั้งการเสพบริโภคและบำเพ็ญประโยชน์
  3. อนณสุข : สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้
  4. อนวัชชสุข : สุขเกิดจากความประพฤติสุจริต ไม่มีโทษ

      บรรดาสุข 4 อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด

 

คฤหัสถ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้เลิศ ควรชมทั้ง 4 สถาน

  1. แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
  2. ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข
  3. แจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำความดี
  4. ไม่สยบมัวเมา ไม่หมกมุ่น บริโภคโภคะเหล่านั้นโดยรู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์

       “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแท้จริงได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละชื่อว่าได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก” (อัตตวรรคที่ 12, 25/22)