- บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ ใช้คำเรียกให้สั้นที่สุดว่าธรรม ยืดออกไปหน่อยว่าสภาวะ หรือสภาวธรรม ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ตามธรรมดาของมัน ถ้าเป็นสังขารหรือสังขตธรรม ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อพูดถึงนิพพาน ที่เป็นวิสังขาร หรืออสังขตธรรม นิพพานก็มีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของนิพพาน เช่นว่าเป็นภาวะบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ เป็นต้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้แล้วมากมาย เมื่อนิพพานมีภาวะของนิพพานอย่างนั้น เป็นธรรมดาเช่นนั้นอยู่แล้ว จะมีอัตตามาแทรกมาซ้อนมาครอบมาครอง มาสั่งบังคับบัญชานิพพานอย่างนั้นอย่างนี้อีก ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้
- ขอให้ดูตัวอย่างในพุทธภาษิตที่แม่นกันทั่วไปว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี่เป็นการใช้ในภาษาสมมติ (สมมติสัจจะ) ในความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) เราก็เรียนรู้กันว่าตัวเราแท้ๆนั้นไม่มีจริง ยอมรับกันแค่ตามสมมติ
- นิพพานจะเป็นอัตตา จะเป็นตัวเราได้ ก็คือมีความยึดถือ ได้แก่อุปาทาน นี่ก็ขัดกับสภาวธรรมเอง เพราะจะประจักษ์แจ้งนิพพานได้ ต้องหมดสิ้นอุปาทานแล้ว พระอรหันต์จึงไม่มีความสำคัญหมายว่านิพพานของเรา
- หลักพระพุทธศาสนาบอกชัดเจนว่าการถือว่ามีว่าเป็นอัตตา เป็นกิเลสที่เรียกว่า “อัตตวาทุปาทาน” หมายถึง การยึดวาทะถ้อยคำที่ส่อแสดงความคิดความเข้าใจว่ามีว่าเป็นอัตตา ขอให้สังเกตว่าประกอบด้วยศัพท์คำว่า “อัตตา+วาทะ+อุปาทาน” เพราะเมื่ออัตตาไม่มีจริง จะไปยึดอัตตาที่ไหน ก็เป็นแต่เพียงการยึดในวาทะว่ามีอัตตาเท่านั้น เป็นคำศัพท์ที่เรียกได้ว่าเคร่งครัด
- การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่ามีอัตตา
- ถ้ายังยึดว่าอะไรเป็นอัตตา ก็คือยืนยันว่ายังไม่รู้จักนิพพาน
- สรุปด้วยพุทธพจน์ว่า “เรามองไม่เห็นความยึดถือวาทะว่ามีว่าเป็นอัตตา อย่างใด ที่เมื่อยึดติดถือมั่นเข้าแล้ว จะไม่ก่อให้เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส” (อลคัททูปมสูตร, 12/283)