14) ส่วนหนึ่งของความสงบสังขาร เสี้ยวหนึ่งแห่งนิพพาน

     “ดูกรอานนท์ มรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นไฉน? ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเพราะอุปธิวิเวก เพราะละอกุศลธรรมได้ เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน. เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้วย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิทเป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ดังนี้. เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย …” (มหามาลุงโกฺยวาทสูตร, 13/157)

     ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้ว่าพุทธพจน์บทนี้เป็นการเจริญวิปัสสนาในแนวของสมถยานิก คือ เจริญกรรมฐานจนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อในฌาน (บทอื่นที่ทรงแสดงแนวเดียวกันนี้ เช่น ฌานสูตร, 23/240 ; อัฏฐกนาครสูตร} 13/18-23 เป็นต้น) ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถทำฌานหรือแม้แต่อุปจารสมาธิให้เกิดขึ้นได้แล้วพิจารณาตามแนวทางที่พระองค์ทรงแสดงย่อมดีแท้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ฌานก็คงพอจะพิจารณาเพื่อศึกษาหลักการและแนวทางของพระสูตรนี้เพื่อประดับความรู้ได้บ้าง

     ขอให้สังเกตว่าแม้ภาวะของฌานซึ่งเป็นภาวะที่น่าพึงพอใจกว่าภาวะปกติทั่วไปอย่างมาก ท่านก็ยังตรัสให้พิจารณาโทษในภาวะของฌานนั้นในฐานะที่เป็นสังขตธรรมที่ปรุงแต่งขึ้น ไม่พ้นไปจากความเกิดดับบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัย และทรงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติเข้าไปสัมผัสภาวะที่หลุดพ้นไปจากโทษที่ยังเหลืออยู่ในฌานนั้น คือความสงบสังขารทั้งปวงอันเป็นบรมสุข พูดง่ายๆว่าให้ผละจากอารมณ์กรรมฐานแล้วเจริญวิปัสสนาจนมีนิพพานเป็นอารมณ์นั่นเอง

     ในบรรดาสิ่งทั้งหลาย ท่านแบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. ธรรมชาติใดเหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ เนื่องอยู่ด้วยโลก เรียกว่า สังขตธรรม, สังขาร
  2. ธรรมชาติใดเหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ พ้นวิสัยของโลก เรียกว่า อสังขตธรรม, วิสังขาร (อสังขตธรรม, วิสังขาร, อมตธาตุ, นิพพาน ฯลฯ เป็นศัพท์ที่มีมุ่งแสดงสิ่งเดียวกัน เป็นคำไวพจน์กัน)

     เราจะสามารถพบสิ่งใดที่สามารถคงอยู่ยั่งยืนถาวร พ้นจากความเสื่อมทรุดโดยประการทั้งปวงหรือไม่? สิ่งทั้งปวงในโลกย่อมแปรปรวนด้วยความเกิด ดับ อยู่ตลอดเวลาเป็นปกติ ไม่มีสิ่งที่เป็นแก่น เป็นแกน หรือเป็นอัตตายืนโรงอยู่ ข้อนี้แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็เริ่มที่จะพิสูจน์ได้ในระดับที่ลึกขึ้นตามลำดับ ดังเช่นเรื่องของธาตุ โมเลกุล อะตอม ที่สามารถแยกได้เล็กลงไปเรื่อยๆจนเรียกว่า ควาร์ก ซึ่งในอนาคตนักวิทยาศาสตร์ก็อาจค้นพบว่ามันสามารถแยกให้ละเอียดกว่านี้ได้อีกก็เป็นได้ และในทฤษฎีส่วนใหญ่ อนุภาคเล็กๆเหล่านี้มีลักษณะที่ไม่เคยหยุดนิ่งเลย

     นี่เป็นเรื่องในฝั่งของวิทยาศาสตร์ และเป็นเรื่องของรูปธรรม แต่ในทางพระพุทธศาสนา สิ่งทั้งปวงในโลกจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ย่อมอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์เสมอเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง คงสภาพอยู่ไม่ได้ ถูกเหตุปัจจัยบีบคั้นให้แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ควรเห็นโดยความยึดมั่นถือมั่นว่า นั่นเป็นอัตตาตัวตนแก่นสารของเรา

     แม้แต่ในขณะแห่งความสุขอย่างเลิศ คือ ฌานสุข สุขเวทนาในฌานนั้นตามสภาวะก็เป็นทุกข์เพราะยังถูกบีบคั้นด้วยความเกิดดับ ไม่พ้นไปจากไตรลักษณ์ไปได้ กล่าวคือ สิ่งใดถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย (อนิจจัง) สิ่งนั้นยังเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์เพราะเป็นภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัย (ทุกขัง) ไม่ใช่อัตตาตัวตนที่จะควบคุมบัญชาให้มันเป็นอย่างไรๆตามต้องการได้ (อนัตตา) ส่วนสิ่งใดพ้นจากเหตุปัจจัย เป็นความสงบสังขารทั้งปวง สิ่งนั้นจึงเป็นบรมสุขได้อย่างแท้จริง

     กล่าวคือ เมื่อว่ากันที่ตัวสภาวะแท้ๆแล้ว ระดับของความสงบสังขารลงได้นั่นแหละคือระดับความทุกข์ที่ลดลง การเพลินอยู่กับกามสุขก็คือการสงบทุกข์อื่นๆอย่างหยาบ (มีอารมณ์ของกามคุณนั้นและความฟุ้งซ่านอื่นเป็นสังขารทุกข์) การเพลินอยู่กับสมาธิก็คือการสงบทุกข์อื่นอย่างประณีต (เหลือเพียงอารมณ์ของกรรมฐานนั้นแหละเป็นสังขารทุกข์) ฌานในระดับสูงขึ้นไปก็สงบสังขารทุกข์ของฌานระดับต่ำกว่าไปตามลำดับ ต่อเมื่ออนุปาทิเสสนิพพานก็สงบสังขารโดยสิ้นเชิง ยกพุทธพจน์ให้พิจารณาดังนี้

     “ดูกรอานนท์ ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ เราอยู่มากด้วยสุญญตวิหารธรรม เปรียบเหมือนปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้ ว่างเปล่าจากช้าง โค ม้า และลา ว่างเปล่าจากทองและเงิน ว่างจากการชุมนุมของสตรีและบุรุษ มีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะภิกษุสงฆ์เท่านั้น ฉันใด

     ดูกรอานนท์ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ใส่ใจสัญญาว่าบ้าน ไม่ใส่ใจสัญญาว่ามนุษย์ ใส่ใจแต่สิ่งเดียว เฉพาะสัญญาว่าป่า จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใสตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าป่า เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในสัญญาว่าป่านี้ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยสัญญาว่าบ้าน และชนิดที่อาศัยสัญญาว่ามนุษย์เลย มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือภาวะเดียวเฉพาะสัญญาว่าป่าเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าบ้าน สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่ามนุษย์ และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่าป่าเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี

     ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ

     ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่าป่า ไม่ใส่ใจสัญญาว่าแผ่นดิน ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะอากาสานัญจายตนสัญญาจิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในอากาสานัญจายตนสัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในอากาสานัญจายตนสัญญานี้ ไม่มีความกระวนกระวาย ชนิดที่อาศัยสัญญาว่าป่าและชนิดที่อาศัยสัญญาว่าแผ่นดิน มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือภาวะเดียวเฉพาะอากาสานัญจายตนสัญญาเท่านั้น … แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ” (จูฬสุญญตสูตร, 14/333-342)

นิพพานสูตร พระสารีบุตรตอบคำถามที่ว่านิพพานไม่มี (สุข) เวทนาจะเป็นสุขได้อย่างไร?

     “ดูกรอาวุโส นิพพานนี้ไม่มีเวทนานั่นแหละเป็นสุข

     ดูกรอาวุโส กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวนชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ ประการนี้แล

     ดูกรอาวุโสสุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ นี้เรียกว่ากามสุข ฯ

     ดูกรอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยกามย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยกามเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านจะพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ ฯ

     อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ เพราะวิตกวิจารสงบไป ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิตกย่อมฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิตกเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์ ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ ฯ” (นิพพานสูตร 23/238)

     สิ่งมีชีวิตย่อมใฝ่ใจในสิ่งที่ให้ความสุขแก่ตน สิ่งใดยิ่งให้สุขมากก็ยิ่งใฝ่หาสิ่งนั้นมาก ฉะนั้นแล้ว การจะละความยึดติดถือมั่นในวิถีแบบเดิมๆ คือ การยึดติดในอัตตาว่าเป็นตัวตนผู้เข้าไปเสพสุข จะเกิดขึ้นได้ด้วยความยินยอมพร้อมใจไม่ใช่ด้วยการฝืนข่ม ก็ต่อเมื่อได้พบวิถีใหม่ซึ่งดีเลิศยิ่งกว่า และถ้าได้ประจักษ์แจ้งกับตนแล้วว่าวิถีใหม่ที่ว่านั้นดีเลิศสมบูรณ์แบบอย่างไร้ที่ติ การจะละจากวิถีเดิมอย่างสิ้นเชิงชนิดถอนรากถอนโคนย่อมเป็นไปได้

     ความสงบสังขารเป็นสุขอย่างไร นิพพานเป็นบรมสุขอย่างไร ย่อมทราบได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติสมถภาวนา เนื่องด้วยสมาธิระดับฌานย่อมสงบความรับรู้ทางกายและสงบนิวรณ์ 5 ลงได้ และวิปัสสนาภาวนา อันสงบกิเลสลงได้ตามกำลังของปัญญา

     พึงมองเห็นความสุขประณีตอันเกิดจากการสงบสังขารลงได้บางส่วนนี้แหละ เป็นทางประเสริฐอันเชื่อมไปสู่นิพพาน แม้ว่าในขั้นต้นความสุขนี้อาจยังมีกำลังน้อยและเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ คล้ายกับเป็นเสี้ยวหนึ่งของนิพพานก็ตาม

บทความที่เกี่ยวข้อง : สติปัฏฐาน 4

วิปัสสนาไม่ยึดติดถือมั่น