คำชี้แจงจากผู้จดบันทึก

พุทธธรรมโดยย่อ ธรรมะอย่างย่อ

         งานชิ้นนี้เริ่มต้นจากการที่ผู้จดบันทึกได้มีโอกาสอ่านหนังสือพุทธธรรม ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) แล้วเกิดความประทับใจ พร้อมกับรู้สึกทึ่งในคุณค่าของหนังสือเล่มนี้อย่างยิ่ง สมกับที่ได้รับยกย่องให้เป็นเพชรน้ำเอกแห่งวงการพระพุทธศาสนาโลก ผู้บันทึกแม้เป็นชาวพุทธโดยกำเนิด แต่ได้รู้จักพระพุทธศาสนาหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้

         เนื่องจากบันทึกนี้เดิมทีเป็นการย่อความเพื่อใช้ในการศึกษาของข้าพเจ้าเอง ในขณะที่ทำการย่อนั้น ก็มีข้อความส่วนที่เป็นของผู้บันทึกแทรกอยู่ด้วย โดยที่บางประเด็นเป็นส่วนที่จดไว้เพื่อเตือนสติตนเองบ้าง จดไว้กันลืมบ้าง เป็นการขยายความเพิ่มเติมด้วยความเห็นส่วนตัวบ้าง ผู้อ่านบางท่านอาจรู้สึกว่าเกะกะ ก็ขอเรียนให้ทราบว่าผู้จดบันทึกเป็นเพียงผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถ้าท่านอ่านโดยถือเสมือนว่าเป็นกัลยาณมิตร ข้าพเจ้าก็มีความยินดียิ่ง

         นอกจากบรรณานุกรมแล้ว ในเนื้อหาผู้บันทึกได้ใช้แบบอักษรที่ต่างกัน 3 แบบ ในการอ้างอิงที่มาอย่างคร่าวๆ คือ 1) พระไตรปิฏก / 2) เนื้อหาหลัก / 3) เนื้อหาปลีกย่อยและความเห็นของผู้จดบันทึก โดยส่วนที่ยกมาจากพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐเพื่อความสะดวกในการค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตจะบอกอ้างอิงแบบ (ชื่อ, เล่ม/ข้อ) ส่วนที่เป็นของอาจารย์แต่ละท่านที่ไม่ได้ย่อมาจากหนังสือพุทธธรรมจะบอกอ้างอิงที่มาไว้

         อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงของงานนี้ไม่สมบูรณ์ในหลายๆจุด ผู้บันทึกจึงต้องกราบขออภัยต่อครูอาจารย์หลายๆท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่นำเนื้อหาของท่านมาใช้โดยไม่ได้ทำอ้างอิงให้สมบูรณ์ และเรียนแจ้งให้ทุกท่านทราบอย่างเหมาะสม เช่น ส่วนใหญ่ยกพุทธพจน์จากหนังสือพุทธธรรมซึ่งเป็นการแปลโดยสำนวนของท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่บางแห่งก็จดบันทึกตามสำนวนแปลของฉบับสยามรัฐหรือฉบับมหาจุฬาฯ, บางส่วนใช้เนื้อหาของอาจารย์หลายๆท่านปนกับความเห็นส่วนตัวทำให้ไม่สามารถบอกอ้างอิงให้ชัดเจนได้ เป็นต้น

         ทั้งนี้ ในปัจจุบันถือเป็นโอกาสอันดีที่สุดวาระหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นยุคทองของผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ เหตุเพราะผู้ศึกษาในปัจจุบันได้อาศัยพึ่งน้ำพักน้ำแรงจากการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าของครูอาจารย์ทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยนั้นมีถึง 3 สำนวน คือ ฉบับสยามรัฐ เสร็จใน พ.ศ. 2500 ฉบับมหามกุฎ พ.ศ. 2525 และฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ยังมีหนังสือ พุทธธรรมฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งดังได้กล่าวมาแล้ว เป็นต้น อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้การศึกษาของผู้ศึกษาในรุ่นหลังทำได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้วเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาจะเชิญชวนทุกท่านให้ใช้โอกาสที่มีอยู่ของท่านให้เต็มที่

         ส่วนการบันทึกนี้โดยมากเป็นเพียงการคัดลอก และย่อความเนื้อหาจากตำราต่างๆ งานนี้จึงเป็นของเล็กน้อยอย่างยิ่ง อีกทั้งยังอาจมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างอันเนื่องมาจากความรู้ความสามารถและสติปัญญาอันจำกัดของผู้บันทึก ท่านผู้ปรารถนาจะได้ดื่มด่ำในรสแห่งพระธรรมอย่างเต็มอิ่ม ประณีต และสมบูรณ์ โปรดศึกษาจากพระไตรปิฎกและหนังสือพุทธธรรมฯจะประเสริฐสุด

         เจตนาของผู้จดบันทึกมี 2 ประการ คือ ขัดเกลาจิตใจของตนเองและสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนา ประโยชน์อื่นนอกไปจากนี้ข้าพเจ้าถือเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา หากท่านต้องการเผยแพร่งานชิ้นนี้ในรูปแบบใดก็ตาม ขอให้เป็นไปตามเจตนาข้างต้น

         ขอให้ร่มเงาแห่งพุทธธรรม ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า นำความผาสุกมาให้แก่ทุกท่าน

ด.ส.ปฐวี