“มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีการศึกษาปฏิบัติไปตามลำดับ … , น้ำในมหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็มฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียว คือ วิมุตติรส” (ปหาราทสูตร, 23/109)
หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆกัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง คนละส่วนละตอนกันบ้าง แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง บางข้อเป็นส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน
ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ 2 อย่าง คือ
- มัชเฌนธรรมเทศนา (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ) : หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ธรรมที่เป็นกลาง ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมการเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ และการเก็งความจริงทางปรัชญา
- มัชฌิมาปฏิปทา (มรรค) : ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ทางสายกลาง เป็นภาคปฏิบัติอันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย มุ่งผลสำเร็จคือ ความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้
ทางสายกลางนั้น มิใช่หมายถึงอยู่กึ่งกลางระหว่าง ที่สุดทั้ง 2 ทาง หรือกึ่งกลางของทางหลายๆทาง แต่หมายถึง ความมีเป้าหมายที่แน่ชัด แล้วกระทำตรงจุด พอเหมาะพอดีจะให้ผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ไม่เขวออกไปเสีย
ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็แก้ปัญหาดับทุกข์ไม่สำเร็จ
ชีวิตที่ประเสริฐ เปรียบได้กับต้นไม้ ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ คือ
ลาภสักการะ เหมือนกิ่งใบ
ศีล เหมือนสะเก็ดไม้
สมาธิ เหมือนเปลือกไม้
ปัญญา เหมือนกระพี้ไม้
วิมุตติ เป็นแก่น
เราพึ่งคนอื่น เช่น พึ่งพระพุทธเจ้า ก็เพื่อทำตัวเราให้พึ่งตนเองได้ เพราะฉะนั้น หลักพุทธศาสนาจึงมาถึงแก่นแท้ที่สูงสุด คือ วิมุตติ ความหลุดพ้น