17) กลไกแห่งความเห็นประจักษ์

       ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ พระพุทธศาสนาแยกตามลักษณะพื้นฐาน เป็น 2 ประเภท คือ สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัย (สังขตธรรม) และสิ่งที่พ้นจากความปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัย (อสังขตธรรม) เช่นนี้แล้ว ถ้าเมื่อใดสามารถเข้าใจลักษณะพื้นฐานตามธรรมชาติอย่างประจักษ์แจ้งโดยสมบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นอันว่าเข้าใจสภาพความเป็นไปของสิ่งทั้งปวงและประจักษ์แจ้งวิถีทางที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในธรรมชาติด้วย

       ประเด็นปัญหาคือ ความรู้เห็นประจักษ์แจ้งในสิ่งซึ่งกว้างขวางและไกลตัวอย่างนั้นจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?

       แน่นอนว่าสิ่งใดๆก็ตาม ถ้ารู้เห็นด้วยประสาทสัมผัสของตัวเองโดยตรงทุกแง่ด้านก็จะเป็นการยืนยันถึงความถูกต้องของสิ่งนั้นโดยสมบูรณ์ทันที เช่น นักบินอวกาศที่มีประสบการณ์ออกไปนอกโลกย่อมประจักษ์แจ้งกับสายตาว่าโลกกลมโดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น แต่จำเป็นหรือไม่ที่คนเราต้องออกไปอวกาศแล้วมองกลับมาที่โลก เพียงเพื่อจะประจักษ์แจ้งว่าโลกกลม

       เมื่อมองให้ลึกเข้าไปจะเห็นว่าการประจักษ์ความเป็นจริงโดยสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องใช้ประสาทสัมผัสเข้าไปรู้เห็นโดยตรงทั้งหมดเสมอไปและบางอย่างก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำเช่นนั้นอีกด้วย แต่มนุษย์เราก็สามารถประจักษ์แจ้งโดยสมบูรณ์ได้โดยอาศัยปัญญาเป็นเครื่องมือ

       การประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาโดยปกติอาจเป็นสำนวนที่ส่องความไปในเรื่องของธรรมะเป็นหลัก แต่ถ้าท่านผู้อ่านลองสำรวจตนเองดู ก็อาจพบว่าตัวเราเองก็เคยผ่านประสบการณ์การเชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานต่างๆไปสู่ความรู้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา (ในขั้นโลกียปัญญา) มาบ้างแล้วไม่น้อย

       จากตัวอย่างข้างต้น เมื่อได้ออกไปมองจากนอกโลกด้วยตาของตนเองก็จะประจักษ์แจ้งว่าโลกกลม แต่ในความเป็นจริงคนเราในปัจจุบันล้วนประจักษ์แจ้งว่าโลกกลมโดยที่ไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองตรงๆเลย อาศัยความเชื่อตามข้อมูล การเห็นจากภาพถ่ายดาวเทียมและหลักฐานอื่นๆ ในที่สุดก็จะเข้าถึงจุดที่ประจักษ์แจ้งว่าโลกกลม

       เมื่อแพทย์ต้องการทราบว่าผู้หญิงคนนี้ตั้งครรภ์หรือไม่ อาศัยข้อมูลจากการพูดคุยสอบถาม ทดสอบด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ไปจนถึงอาจตรวจอัลตร้าซาวด์หรือใช้เครื่อง MRI สแกนดูภาพทารกในครรภ์ก็ได้ ไม่ต้องถึงกับผ่าท้องดูทารกในครรภ์ด้วยตาของตัวเองโดยตรงก็ประจักษ์แจ้งได้ว่าผู้หญิงคนนี้ตั้งครรภ์

       กล่าวคือ อาศัยปัจจัย 2 ด้าน ความเข้าใจหรือความเชื่อตามข้อมูล กับ การประจักษ์บางส่วนด้วยตนเอง เมื่อได้ประกอบเข้าด้วยกันอย่างถึงพร้อม การรู้เห็นในเชิงประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาก็เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ประสาทสัมผัสของตัวเข้าไปรู้เห็นโดยตรงทั้งหมด

       การรู้เห็นเข้าใจสภาวะความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงและประจักษ์แจ้งวิถีทางที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในธรรมชาติก็เช่นกัน (ขั้นโลกุตรปัญญา, เป็นความเห็นส่วนตัวโปรดใช้วิจารณญาณ) ประสาทสัมผัสของเราไปไม่ถึงสภาวะความจริงของสิ่งทั้งปวงได้โดยสมบูรณ์ แต่การรู้แจ้งก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยอาศัยการถึงพร้อมของปัจจัย 2 ด้าน

  1. ด้านความเข้าใจหรือความเชื่อตามข้อมูล
    โดยปกติในการที่จะทำความเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ยากมากๆ ก็มักจะต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆมาแล้ว พูดง่ายๆว่าเราต้องพึ่งครูอาจารย์ช่วยไม่มากก็น้อย การจะประจักษ์แจ้งในสภาวะธรรมทั้งปวงก็อาศัยการเริ่มต้นศึกษาจากประสบการณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงถ่ายทอดออกมาเป็นพระธรรมคำสั่งสอน และเมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นฐานแล้วการพัฒนาต่อไปในด้านการประจักษ์บางส่วนด้วยตนเองก็เป็นไปได้ ดังจะเห็นว่าอินทรีย์ 5 มีศรัทธาเป็นข้อแรก มรรค 8 มีสัมมาทิฏฐิเป็นข้อแรก
  2. ด้านการประจักษ์บางส่วนด้วยตนเอง
    โดยอาศัยกำลังของสมถะและวิปัสสนา ยกพุทธพจน์ให้พิจารณาดังนี้
    * สันทิฏฐิกสูตรเนื้อความตอนหนึ่งว่า ฌานและอรูปฌานเป็น ทิฏฐธรรมนิพพาน โดยปริยาย (คือเทียบคล้ายนิพพานได้ในบางส่วน) (สันทิฏฐิกสูตร, 23/251)
    * “ขณะใด ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลาย ขณะนั้น เธอย่อมได้รับปีติปราโมทย์ซึ่งเป็นอมตธรรมสำหรับผู้รู้ทั้งหลาย” (ภิกขุวรรค, 25/35)
    * อัตตทีปสูตรเนื้อความตอนหนึ่งว่า ผู้ที่เจริญวิปัสสนาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 สงบความทุกข์ใจ อยู่เป็นสุขได้ เรียกว่าเป็นผู้ตทังคนิพพาน (นิพพานเฉพาะกรณี คือดับกิเลสบางส่วนและชั่วคราว) (อัตตทีปสูตร, 17/87-88)
    * นิพพุตสูตรเนื้อความตอนหนึ่งว่า ผู้ที่ละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้วย่อมไม่คิดในทางที่จะทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน ปราศจากความทุกข์ใจ อย่างนี้แหละเป็นสันทิฏฐิกนิพพาน (นิพพานที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นได้เอง) (นิพพุตสูตร, 20/495)

       “…เมื่อธรรมควรแก่การเพ่งพินิจมีอยู่ ฉันทะย่อมเกิด เกิดฉันทะแล้ว ย่อมขะมักเขม้น ครั้นขะมักเขม้นแล้ว ย่อมไตร่ตรองด้วยดี ครั้นไตร่ตรองด้วยดีแล้ว ย่อมตั้งความเพียร (ในมรรค) เธอเป็นผู้มีใจแน่วแน่แล้ว ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งด้วยกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา
       ดูกรภารทวาชะ การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะทีเดียว … การปฏิบัติ เจริญ ทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ”

(จังกีสูตร, 13/657-658)

       จะเห็นว่าหากปราศจากขั้นการประจักษ์บางส่วนด้วยประสบการณ์ตรงของตนเองด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาแล้ว การประจักษ์แจ้งโดยสมบูรณ์ก็จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ภาคปริยัติและปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่ควรพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อให้การเล่าเรียนด้วยความเพียรและศรัทธาที่ถูกทางนำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องเกิดผลลัพธ์ให้เห็นจริง จนในที่สุดแล้วสามารถเชื่อมไปสู่ปัญญาเห็นแจ้งอันเป็นผลที่หมายสำเร็จสมดังที่ปรารถนา ตามมรรคาที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงไว้อย่างประเสริฐยิ่งแล้ว